อยากเล่นเครื่องเล่นแผ่นเสียงต้องมีอะไรบ้าง?
20 พ.ย. 2566
อยากเล่นเครื่องเล่นแผ่นเสียงต้องมีอะไรบ้าง?
เครื่องเล่นแผ่นเสียง หรือ Turntable เริ่มกลับมาได้รับความนิยมตั้งแต่เมื่อ 3-4 ปีก่อน โดยเฉพาะผู้ผลิตเครื่องเล่นแผ่นเสียงหลายๆแบรนด์ต่างก็เริ่มเปิดไลน์ Product สินค้าทางฝั่งเครื่องเล่นแผ่นเสียงออกมาเรื่อย ๆ ขนาด Sony เองก็ยังทำเครื่องเล่นแผ่นเสียงของตัวเองออกมาด้วยเช่นกัน กระทั่ง Technic ยังจับเอารุ่นยอดนิยมในอดีตมาปัดฝุ่นใหม่ออกขาย แสดงให้เห็นว่ากระแสของเครื่องเล่นแผ่นเสียงเองก็ยังคงดีอยู่จนถึงปัจจุบัน
แต่หลายๆคนที่กำลังให้ความสนใจกับเครื่องเล่นชนิดนี้ ก็มีความสงสัยว่า จะเริ่มต้นเล่นยังไงดี เพราะมันไม่ได้ง่ายเหมือนเครื่องเล่นเพลงในยุคนี้ที่เพียงเปิดเพลงจาก App Streaming ก็สามารถฟังได้เลย เพราะเครื่องเล่นแผ่นเสียงส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะแบบเครื่องกลไกลซึ่งต้องใช้ความเข้าใจใการเล่นระดับนึง ถ้าเกิดชอบใจและอยากจะลองเล่นดูบ้าง มันควรจะต้องมีอะไรและรู้เรื่องอะไรกันบ้าง
รู้จักเครื่องเล่นแผ่นเสียงกันก่อน
ก่อนที่จะซื้อเครื่องเล่นแผ่นเสียงมา เราควรจะต้องรู้ว่า มันมีเครื่องเล่นแผ่นเสียงแบบไหนกันบ้าง เพราะแต่ละแบบก็จะมีรูปแบบการทำงานและความยุ่งยากในการใช้งานที่แตกต่างกัน
เครื่องเล่นแผ่นเสียงนั้นจริงๆจะแบ่งอย่างออกเป็น 3 ระบบใหญ่ๆ คือ แบบ Automatic , Semi Automatic และ Manual ซึ่งทั้งสามแบบก็จะเหมาะกับระดับความถนัดของคนใช้ ถ้าเป็นมือใหม่จริงๆ และกลัวความยุ่งยากของ Turntable ก็อยากจะแนะนำให้ใช้ระบบ Automatic ไปก่อนจะดีกว่า ปัจจุบันพวกเครื่องเล่นแผ่นเสียงแบบนี้เสียงก็ไม่ได้ขี้เหร่อีกแล้ว แถมยังใช้งานง่าย เพียงแค่เอาแผ่นวางแล้วกด play มันก็จะเอาเข็มมาวางลงแผ่นให้ จบเพลงก็ดึงอาร์มกลับเก็บเข็มลงที่จุดวางเหมือนเดิม แต่ข้อเสียของมันก็คือ ความนิ่งในการฟังจะสู้อีก 2 แบบไม่ได้ และการ upgrade เป็นไปได้ยากกว่า เพราะไม่สามารถเปลี่ยนโทนอาร์มและ headshell ได้ แต่ยังสามารถเปลี่ยนเฉพาะหัวเข็มได้ซึ่งก็จะมีตัวเลือกที่น้อยกว่าสองแบบหลัง แน่นอนว่าแม้จะไม่สามารถ upgrade ได้ แต่ใช้งานจะสะดวกกว่ามากๆ เหมาะกับคนที่ซื้อเพื่อฟังไม่ได้ตั้งใจจะ upgrade อะไรมากมาย
ส่วนเครื่องเล่นแผ่นเสียงแบบ Semi Automatic นั้น จะอยู่ระหว่างความเป็น Automatic และ Manual ซึ่งความเป็น Semi Automatic แต่ละแบรนด์จะไม่เหมือนกัน บางรุ่นตัวโทนอาร์มจะยกตัวเก็บเข้าที่เองเมื่อเพลงจบ อีกแบบคือตัวโทนอาร์มจะยกขึ้นเฉยๆเมื่อเพลงจบ ส่วนแบบสุดท้ายคือแผ่นหยุดเองเมื่อเพลงจบ แต่โทนอาร์มไม่ยก และไม่ตีกลับ จริงๆข้อดีของเครื่องเล่นแผ่นเสียงแบบนี้คือ การลดความยุ่งยากเวลาฟังจบแผ่น เพราะมันทำงานอัตโนมัติเเมื่อฟังจบ และยังสามารถ upgrade โทนอาร์มและ Headshell ได้ แต่ข้อเสียก็จะเหมือนกับตัว Manual คืออาจจะไม่สะดวกนิดหน่อยสำหรับมือใหม่ เพราะจะต้องมานั่งตั้งหัวเข็มเมื่อเริ่ม setup ครั้งแรก หรือเปลี่ยน headshell ใหม่ ซึ่งการน้ำหนักหัวเข็มนั้นจริงๆมันก็ไม่ยากและไม่ง่ายนัก ถ้าตั้งแก่เกินไป หรือ หัวเข็มกดลงแผ่นมากไป จะทำให้เสียงมี noise เยอะ และมีโอกาสทำให้แผ่นสึกได้ไว ในทางเดียวกันถ้าตั้งอ่อนเกินไป เสียงก็จะบาง และแห้ง ไม่น่าฟัง
ส่วนเครื่องเล่นแผ่นเสียงแบบ Manual นั้น ก็จะเป็นเครื่องเล่นแผ่นเสียงแบบพื้นฐาน ทุกอย่างต้องทำเองตั้งแต่การวางหัวเข็มและเอาหัวเข็มกลับมาเก็บเมื่อเพลงจบ โดยที่ตัวเครื่องจะหมุนแผ่นไปเรื่อยๆแม้เพลงจะจบแล้วก็ตาม ข้อดือสามารถ upgrade ชิ้นส่วนได้ทุกชิ้น เวลามีปัญหาก็ดูแลง่ายกว่าสองแบบแรก แต่ข้อเสียคือต้องตั้งหัวเข็มเอง และเมื่อเพลงจบก็ต้องมานั่งยกหัวเข็มเอาเอง ซึ่งถ้าในระดับนักฟังเพลงจริงๆ มักจะเลือกแบบนี้กันมากกว่า เนื่องจากความนิ่งที่ดีกว่าและความสามารถในการ upgradre ที่หลากหลายกว่านั่นเอง แต่สำหรับคนที่คิดว่าฟังเพลงก่อนนอนแล้วอาจจะเผลอหลับได้ควรไปเลือกแบบ Semi Automatic จะดีกว่า เพราะแบบ Manual มันจะทำงานไปเรื่อยๆแม้เพลงจะจบแล้วก็ตามซึ่งมันจะไม่ดีต่อหัวเข็มและแผ่นเราอย่างแน่นอน
รู้จักระบบภายในของเครื่องเล่นแผ่นเสียง
ส่วนประกอบสำคัญอีกอย่างนึงของเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่ไม่ควรมองข้าม คือ กลไกลในการขับเคลื่อนระบบนั่นเอง ซึ่งในปัจจุบันนั้นระบบกลไกลภายในจะแบ่งออกเป็น 3 แบบ ซึ่งทั้งสามแบบต่างก็จะมีจุดเด่นจุดด้อยที่แตกต่างกันไป มาดูกันว่าทั้งสามแบบมีอะไรบ้างและแบบไหนดีหรือเด่นกว่ากัน
ระบบ Direct Drive
ระบบนี้ค่อนข้างเป็นที่นิยมในหมู่ DJ สาย Scratch อย่างมาก เพราะมันถูกออกแบบมาเพื่อให้ใช้งานด้านนี้โดยเฉพาะเลยทีเดียว ตัวระบบ Direct Drive จะเป็นระบบเฟืองที่ต่อเข้ามอเตอร์โดยตรง จึงทำให้มีความแข็งแรงมากๆ และจังหวะการหมุนจะมีความเสถียรมากๆเช่นเดียวกัน แต่ปัญหาของระบบ Direct Drive คือจะมีการสั่นสะเทือนจะมอเตอร์ซึ่งจะมีผลกับคุณภาพเสียง ถ้าฟังในระดับทั่วๆไปอาจจะไม่รู้สึก แต่ถ้าขึ้นไปถึงระดับ Mid End หรือ Hi End นั้น ผลกระทบเพียงเล็กน้อยนี้จะถูกขยายออกมาในเครื่องเสียงระดับสูงทันที ทำให้ตัว Direct Drive มักไม่ได้รับความนิยมสำหรับนักเล่นแผ่นเสียงแบบจริงจัง แต่จุดเด่นของมันก็คือความทนทาน โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้ฟังแผ่นเสียงบ่อยๆ จะค่อนข้างเหมาะกับ Turntable ในแบบนี้
ระบบ Belt Drive
ถือเป็นระบบมาตรฐานที่มีมาอย่างยาวนาน ตัวระบย Belt Drive จะใช้สายพานมาพ่วงเข้าที่ตัวมอเตอร์เพื่อขับให้จานแผ่นเสียงหมุน ซึ่งวิธีนี้จะช่วยลดอาการสั่นจากมอเตอร์ได้เยอะมาก และการหมุนจาก Belt Drive จะมีความนุ่มนวลกว่าแบบ Direct Drive มากๆ แต่ข้อเสียคือ ถ้าสายพานขาด หย่อน หรือเสียรูปจากการเก็บรักษาไม่ดีและไม่ได้ใช้งานบ่อยๆ ก็จะต้องลำบากซื้อสายพานใหม่มาใส่ ซึ่งถ้าเป็นเครื่องรุ่นเก่าๆก็จะยิ่งยุ่งยากขึ้นไป เพราะสายพานนั้นจะถูกออกแบบมาเฉพาะของ Turntable ตัวนั้นๆ จะสั้นไปหรือยาวไปไม่ได้เด็ดขาด ส่วนมากระบบ Belt Drive จะเป็นที่นิยมในนักฟังเพลงระดับสูง โดยเฉพาะ Turntable ระดับราคาแพงๆก็นิยมใช้ Belt Drive กันมากกว่า
ระบบ Magnetic Levitation
ต้องบอกว่าระบบนี้ถือว่าเป็นระบบที่ค่อนข้างใหม่มากๆ เพิ่งจะมาพัฒนาและผลิตขายในยุคปัจจุบันนี้เอง ด้วยเทคนิคการออกแบบให้ Platter ลอยอยู่เหนือ body ของเครื่องเล่นแผ่นเสียง โดยมีเป้าหมายเพื่อลดความเสียดทานให้เหลือน้อยที่สุด และช่วยเพิ่มความนิ่งของการหมุนแผ่นให้ดียิ่งขึ้น และเพิ่มระยะห่างให้เสียงของสายพานไม่เข้ามากวนได้ง่ายๆ ดังนั้นระบบนี้จึงมีความน่าสนใจอย่างมากสำหรับวงการเครื่องเล่นแผ่นเสียงในยุคปัจจุบัน แต่ระบบนี้ยังมีราคาค่อนข้างแพงและมีผู้ผลิตเพียงไม่กี่เจ้า
รู้จักหัวเข็มของเครื่องเล่นแผ่นเสียง
ส่วนประกอบที่สำคัญอีกชิ้นนึงของเครื่องเล่นแผ่นเสียงก็คือ “หัวเข็ม” นั่นเอง ตัวหัวเข็มนั้นถือเป็นหัวใจงของเครื่องเล่นเลยทีเดียว สำคัญขนาดที่นักเล่นรุ่นเก่าๆที่เก๋าจริงๆ จะควานหาหัวเข็มที่มีประสิทธิภาพที่ดีที่สุดไม่เน้นเรื่องราคา จนถึงกับมีการซื้อขายหัวเข็มอันเดียวในราคาระดับล้านได้เลย เหตุที่มันสำคัญเพราะหัวเข็มเป็นจุดที่จะถ่ายทอดเสียงทั้งหมดจากร่องเสียงบนแผ่นไวนิล ถ้าหัวเข็มมีประสิทธิภาพสูง เสียงก็จะออกมาดีได้เช่นเดียวกัน ซึ่งหัวเข็มที่นิยมในปัจจุบันจะมีหัวเข็มแบบ MM ( Moving Magnet ) และ หัวเข็มแบบ MC ( Moving Coil) โดยมีหัวเข็มแบบ MI ( Moving Iron ) ที่ได้รับความนิยมน้อยที่สุด ดังนั้นมาดูกันว่าหัวเข็มแต่ละแบบมีจุดดีจุดเด่นอะไรบ้าง
หัวเข็มแบบ MM (Moving Magnet)
เป็นหัวเข็มที่พบได้ทั่วไป ราคาไม่แพง มีความทนทานสูงเหมือนเทียบกับ MC น้ำหนักไม่มากสามารถใช้ได้กับโทนอาร์มเกือบทุกรุ่นทุกประเภท และปรกติ Pre Phono จะรองรับหัวแบบ MM เป็นส่วนใหญ่ ให้สัญญาน Output ที่แรงที่ระดับ 3.0-5.0 mV ดังนั้น Phono จะขับเสียงได้ง่ายกว่า ในอดีตจะค่อนข้างมีปัญหาที่มีค่าต้านทางสูงเพราะต้องพันขดลวดจนหนามากๆเนื่องจากประสิทธิภาพของแม่เหล็กในอดีตไม่ค่อยดีนัก ปัจจุบันมีแม่เหล็กแบบ Neodymium เข้ามาทำให้รอบการพันขดลวดลดลง และให้ประสิทธิภาพความเข้มของกระแสสัญญานได้ดีกว่าเดิม ดังนั้นจึงจับรายละเอียดของสัญญานในร่องเสียงได้ดีมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม และหัวเข็มชนิดแบบ MM จะมีความแข็งแรงมากกว่า MC มากๆ ดังนั้นส่วนใหญ่จะนิยมนำไปทำหัวสำหรับสแครชของสายดีเจอีกด้วย ปัจจุบันถือเป็นหัวที่มีความนิยมมากที่สุด เพราะไม่ค่อยจุกจิก
หัวเข็มแบบ MC (Moving Coil)
เป็นหัวเข็มที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อให้สามารถเก็บรายละเอียดเสียงได้ครบถ้วนมากที่สุด ตัวเข็มจะติดกันกับก้านปลายเข็มซึ่งตัวก้านที่ว่าจะอยู่ช่องว่างระหว่างแม่เหล็ก เมื่อเข็มวิ่งเซาะเข้าร่องบันทึกเสียงบนแผ่นไวนิล ก็จะทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าทันที แต่กำลังขยายของ MC จะค่อนข้างต่ำมากเพราะตัวลวดที่พันจะถูกจำกัดจำนวนรอบให้น้อยที่สุด ทำให้กระแสที่ออกมาบางจนไม่สามารถใช้่งานกับ Phono ทั่วๆไปได้ ต้องใช้คู่กันกับ Phono ที่รองรับ MC เท่านั้น แต่หัวชนิดนี้จะมีค่าต้านทานที่ต่ำกว่า MM เพราะจำนวนขดลวดที่น้อยกว่านั่นเอง และเป็นหัวที่ค่อนข้างบอบบาง ราคาแพง ถ้าหัวเข็มสึกหรือหักก็ต้องซื้อทั้งหัวใหม่มาเปลี่ยนเท่านั้น ไม่สามารถเลือกเปลี่ยนเฉพาะเข็มแบบ MM ได้ แต่จุดเด่นของ MC ก็คือ การที่ให้ bandwidth ของเสียงที่กว้างกว่า MM และให้ความไหลลื่นที่ดีกว่า รวมทั้งถ่ายทอดละเอียดเสียงได้ดีกว่าอีกด้วย
ข้อเสียอีกอย่างคือ MC จะมีน้ำหนักหัวที่ค่อนข้างมาก ดังนั้น โทนอาร์มที่เป็นพลาสติกจะไม่สามารถใช้ได้ เพราะจะตั้งบาลานซ์ไม่ได้ ต้องใช้โทนอาร์มแบบหนักๆ หรือที่เรียกกันว่า high mass มาพยุงจะทำให้สามารถตั้งบาลานซ์ได้ดีกว่าแบบ Low Mass มากๆ
หัวเข็มแบบ MI (Moving Iron)
เป็นหัวเข็มที่มีแค่ไม่กี่แบรนด์ที่ผลิตออกมา หลักๆก็จะมี B&O และ Grado ซึ่งการออกแบบของหัวชนิดนี้จะเน้นให้มีการเคลื่อนไหวของชิ้นส่วนให้น้อยที่สุด ดังนั้น ตัวแม่เหล็กกับขดลวดจะอยู่กับที่ไม่เคลื่อนไหวแม้แต่นิดเดียว แต่ให้แท่งเหล็กที่ปลายเข็มเป็นตัวเคลื่อนไหวแทน ข้อดีคือหัวเข็มชนิดนี้จะให้กระแสของสัญญานขาออกที่สูงกว่าหัวเข็มทุกชนิด และเข้าเกาะร่องเสียงได้ดีกว่า แถมยังไม่ต้องการแรงกดมาก ดังนั้นจึงตั้งบาลานซ์เข็มได้ง่ายกว่าหัวเข็มชนิดอื่น ๆ
รู้จัก Phono ส่วนประกอบสุดสำคัญในเครื่องเล่นแผ่นเสียง
ส่วนสำคัญอีกอย่างของเครื่องเล่นแผ่นเสียงก็คือ Phono นั้นเอง ว่าแต่ Phono มันคืออะไร ? Phono จริงๆมันก็คือภายขยายชนิดหนึ่ง แต่มันจะมีความไวต่อสัญญานเสียงที่เป็นระดับต่ำ หรือเสียงที่มาเบาๆนั่นเอง เพราะความจริงแล้ว การสร้างเสียงของเครื่องเล่นแผ่นเสียงเกิดจากการที่หัวเข็มลากไปตามร่องบนแผ่นเสียงและทำให้เกิดเสียงขึ้นมา ตัว Phono เองก็จะทำหน้าที่ขยายเสียงเหล่านั้นออกมาอีกที แตกต่างจากภาคขยายแบบ Amplifier ทั่วไป เพราะว่าตัว Amplifier นั้นจะไม่สามารถขยายเสียงจากหัวเข็มได้โดยตรง เพราะ Gain ในการขยายเสียงของ Amplifier จะเริ่มขยายที่ความดังที่สูงกว่านั่นเอง ดังนั้นถ้านำมาขยายเสียงของหัวเข็ม เสียงที่ออกมาจะเบาและมี Noise เยอะมาก
ตัวเครื่องเล่นแผ่นเสียงนั้น ในอดีตจะแยกออกเป็นรุ่นที่มี Pre Phono ในตัว และไม่มีในตัว แต่ปัจจุบัน Turntable ส่วนใหญ่จะมาพร้อม Pre Phono อยู่แล้ว และพวกรุ่นใหม่ๆโดยส่วนใหญ่จะสามารถเลือกได้ว่าจะใช้ Phono ภายในตัวเอง หรือเลือกที่จะใช้ Phono จากภายนอก ซึ่งถ้าไม่ซีเรียสว่าจะนำไปต่อกับ Phono ที่มีอยู่ หรือ ต้องการให้เสียงมาแบบ Hi End จริงๆ เราก็เลือกใช้ phono ในตัวของ Turntable ก็ได้ เพราะมันก็ให้คุณภาพเสียงที่ดีมากๆไม่แพ้พวก Phono ภายนอกเลยทีเดียว
จริงๆการเลือกเล่นเครื่องเล่นแผ่นเสียงนั้นในปัจจุบันต้องเรียกได้ว่าไม่ได้ยากเย็นแบบในอดีต โดยเฉพาะกับเครื่องเล่นแผ่นเสียงแบบ Automatic ที่ใช้งานง่ายจนแทบไม่ต่างกับเครื่องเล่น CD เลยทีเดียว ยกเว้นว่าจะอยากอัพเกรดตัวเองไปเล่นเครื่องเล่นที่ระดับสูงขึ้นอย่าง Semi-Auto หรือตัวเครื่องเล่นแผ่นเสียงแบบ Manual ซึ่งอาจจะต้องศึกษาในหลาย ๆ ส่วน ทั้งวิธีการตั้งโทนอาร์ม การตั้ง anti-skating และต้องมีความใจเย็นในการวางหัวเข็ม เพราะทุกขั้นตอนต้องทำด้วยมือเราเอง ซึ่งมันอาจจะฟังดูยุ่งยากแต่ในแง่คุณภาพที่ได้จะดีกว่าแบบ Automatic อย่างแน่นอน ถ้าอยากฟังง่าย ๆ สบาย ๆ ก็เลือกเครื่องเล่นแผ่นเสียงแบบ Automatic ง่ายๆ สบายๆ หรือถ้าอยากได้คุณภาพเสียงระดับสูง มีความเท่ห์ในการโชว์ปรับแต่งก่อนฟังเพลง และได้สนุกกับการหาอุปกรณ์มาอัพเกรดคุณภาพเสียงให้ดียิ่งขึ้น ก็ควรไปทางฝั่ง Semi-Auto และ Manual เพราะทั้งสองแบบจะตอบโจทย์ได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด