สาเหตุที่หูฟังพังและหูฟังเสียงหาย เกิดจากอะไร แก้ไขได้ยังไง
4 พ.ค. 2560
โดยปกติแล้วอายุการใช้งานเฉลี่ยของหูฟังทั่วๆไปที่ขายตามท้องตลาดมักจะอยู่ที่ 1-2 ปี หากหูฟังมีราคาแพงหรือวัสดุดีขึ้นมาหน่อยก็อาจจะใช้งานได้นานถึง 3-4 ปีเลยทีเดียว แต่บางครั้งก็ยังไม่แคล้วคลาด..ต้องมีอันเป็นไปก่อนเวลาอันควรเสมอ วันนี้ทาง Mercular.com เองก็ไม่นิ่งนอนใจ นั่งลิสต์สาเหตุหลักๆที่ทำให้หูฟัง “พัง” มากที่สุดมาฝากกันในบทความนี้ครับ อย่างน้อยๆก็ถือว่าเป็นการเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นดังต่อไปนี้ ว่าแต่จะมีสาเหตุไหนบ้าง มาติดตามกันเลย!
สาเหตุที่หูฟังพังมากที่สุด มีอะไรบ้าง
ดึงสายออกอย่างรวดเร็ว โดยไม่จับขั้ว
สำหรับสาเหตุแรกถือได้ว่าเป็นสาเหตุหลักๆที่หลายคนมองข้ามกันเลยทีเดียว ในเรื่องของการถอดสายหูฟังออกจากขั้วต่อ AUX (3.5 mm) ซึ่งส่วนใหญ่มักเน้นเร็ว โดยจับที่ตัวสายแล้วดึงออกมาทันที ตรงนี้จะทำให้มีโอกาสเกิดสถานการณ์ที่ว่า “สายหักใน” ได้ง่ายมากๆ หากเป็นหูฟังที่มีสายหูฟังวัสดุไม่ดี อันนี้เตรียมถอยหูฟังตัวใหม่ได้เลยครับ
วิธีแก้ไข: ควรจับที่ขั้วหูฟังแล้วดึงออกเบา ๆ ไม่ควรกระชากสาย
ม้วนเก็บสายแบบลวก ๆ
อีกสิ่งหนึ่งที่เหมือนจะง่ายแต่ก็ไม่ง่ายจนทำให้หลายๆคนพลาดมาก็คือเรื่องของการม้วนเก็บสายหูฟังนั่นเอง โดยส่วนใหญ่จะมีการเก็บหูฟัง 2 แบบ คือม้วนๆขยำๆแล้วโยนใส่กระเป๋า ซึ่งการเก็บแบบนี้จะทำให้การใช้งานครั้งถัดไปยุ่งยากขึ้น เพราะสายจะพันกันมั่วไปหมด ส่วนอีกแบบจะชอบม้วนให้ถี่ที่สุดซึ่งตรงนี้โอกาสขาดในของสายสูงมากๆครับ
วิธีแก้ไข: เก็บสายง่ายๆเพียงชูนิ้วขึ้นมา 3 นิ้ว แบบลูกเสือสามัญ จากนั้นพันสายหูฟังรอบนิ้วให้เรียบร้อยและเป็นระเบียบ
เก็บหูฟังในที่ร้อน/ชื้น
อันนี้เป็นสิ่งที่ถ้าหลีกเลี่ยงได้ ให้หลีกเลี่ยงเลย โดยเฉพาะใครหลายๆคนที่ชอบวางหูฟังทิ้งไว้ในรถหรือที่อับชื้น ตรงนี้จะส่งผลให้ตัวสายหูฟังละลาย (เวลาจับใช้งานจะเหนียวๆ และเสี่ยงขาดได้ง่าย) หรือใช้ไปนานๆแล้วสายหูฟังกรอบ บางทีเก็บไว้ที่ชื้นมากๆ ตรงนี้ถ้าน้ำเข้าหูฟัง อาจจะทำให้หูฟังเกิดความเสียหายก็เป็นได้ครับ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าอุณหภูมิค่อนข้างสำคัญเลยทีเดียว ถือเป็นสิ่งเล็กๆน้อยๆที่ควรใส่ใจ เพื่ออายุการใช้งานของหูฟังที่ยาวขึ้นนะครับ
วิธีแก้ไข: เก็บในที่มิดชิดให้มีอากาศระบาย ใส่กล่องหรือซองให้เรียบร้อย
พาหูฟังไปพบรักกับสิ่งอื่น
อย่างเช่น..การพาหูฟังไป “จูบกับพื้น” หรือ ”ลื่นไปกับน้ำ” บางทีอาจจะไปเกี่ยวกับสิ่งอื่นจนเกิดความเสียหายขึ้น (บางครั้งก็เผลอนั่งทับไม่รู้ตัว!) สำหรับข้อนี้อาจเป็นเหตุการณ์ที่ไม่สามารถคาดเดาได้เลย เพียงแต่ทางเราอยากให้พึงระวังในการเดินทางหรือใช้งานหูฟังมากขึ้น เพราะการทำหูฟังตกพื้นครั้งหนึ่ง อาจจะส่งผลให้ไดรเวอร์ หูฟังเสียหายได้ครับ และในกรณีที่หูฟังตกน้ำ การนำไปแช่ถังข้าวสาร บางครั้งก็ไม่สามารถทำให้กลับมาใช้งานได้เหมือนเดิมเช่นกัน
วิธีแก้ไข: เพียงมีสติในทุกย่างก้าว :)
ฟังเสียงดังมากเกินไป
สำหรับการฟังเพลงโดยเปิดระดับเสียงที่ดังจนเกินไป ปกติคนชอบคิดว่าหูฟังสามารถเปิดดังได้เรื่อยๆ ตามลิมิตที่เครื่องเล่นเพลงจะปรับได้ ตรงนี้ต้องบอกเลยว่าการฟังเสียงดังจะทำให้แผ่นไดอะเฟรมที่อยู่ด้านในเกิดความเสียหายได้ จนเกิดอาการลำโพงแตก ซึ่งเคสนี้รวมถึงคนที่เปิดเสียงดังค้างไว้แล้วเสียบหูฟังเข้าฟังเพลงทันทีด้วยครับ มันจะเกิดอาการเหมือนเรานั่งกินข้าวอยู่ แล้วมีคนมาจุดประทัดข้างๆ แน่นอนครับว่าหูชาแน่นอน ยิ่งหูฟังใหม่ๆควรผ่านขั้นตอนการเบิร์นก่อน อ่านวิธีการเบิร์นหูฟัง/ลำโพงที่นี่
วิธีแก้ไข: ควรปรับระดับเสียงให้อยู่ในช่วงปกติ
ใช้หูฟังราคาถูก วัสดุไม่ดี
เชื่อว่าหลายคนเคยผ่านประสบการณ์ใช้หูฟังทั่วไป ที่ขายตามท้องถนนอย่างแน่นอน ซึ่งตรงนี้ลูกค้าของเราหลายๆท่านเองก็เล่าสู่กันฟังว่าเคยใช้หูฟังเหล่านั้นมาก่อน สิ่งที่ตามมาคืออายุการใช้งานค่อนข้างน้อย จึงไม่แปลกใจเลยที่บรรดานักฟังเพลง ยอมเพิ่มเงินขึ้นมาหน่อยเพื่อให้ได้หูฟังคุณภาพดี วัสดุเยี่ยม อย่างที่เรียนไปข้างต้นว่าอายุการใช้งานของหูฟังนั้นค่อนข้างเยอะในระดับหนึ่งเลยทีเดียวถ้ามีการดูแลรักษาที่ดีครับ สามารถอ่านการดูแลรักษาหูฟังเพิ่มเติมได้ที่นี่
วิธีแก้ไข: เลือกหูฟังที่วัสดุดี ราคาคุ้มค่ากับเสียงที่ได้เป็นหลัก
จบไปแล้วนะครับ สำหรับสถานการณ์ตัวอย่างที่เราหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกันในบทความนี้ หากเพื่อนๆมีสถานการณ์อื่นๆที่ทำให้หูฟังต้องจากโลกนี้ไปอย่างรวดเร็ว อย่าลืมมากระซิบเล่าสู่กันฟังกันบ้างนะครับ หากมีข้อผิดพลาดประการใดต้องขออภัยมา ณ โอกาสนี้ด้วยครับ สุดท้ายนี้หากชอบบทความอย่าลืมกดแชร์ให้เพื่อนๆอ่านกันนะครับ