ทำให้ชุดฟังเพลงเสียงดีขึ้นด้วย DAC แยก
9 ม.ค. 2560
DAC คืออะไร...และทำไมต้องใช้มัน?
หลายครั้งที่เราซื้อลำโพงหรือหูฟังมาแล้วรู้สึกว่าเสียงที่ได้มันยัง “ไปไม่สุด” หรือแม้บางคนจะฟังถูกใจแล้วแต่ต้องการ “ไปต่อ” เพื่อให้ได้เสียงที่ดีขึ้นไปอีก ครั้นจะกระโดดไปซื้อหูฟังหรือลำโพงใหม่เลยก็ใช่ที จึงมีคนจำนวนไม่น้อยที่หันมาใช้ DAC แยก เพื่อรีดประสิทธิภาพของหูฟังที่มีอยู่ให้ถ่ายทอดเสียงออกมาได้ดีขึ้นนั่นเอง
ซึ่งหลายๆคนอาจจะเคยได้ยินเกี่ยวกับ DAC หรือเห็นอุปกรณ์ที่มีลักษณะคล้ายกล่องสี่เหลี่ยมที่นำมาต่อกับคอมพิวเตอร์, โน้ตบุ๊ก, มือถือ หรือแม้กระทั่งเครื่องเล่นเพลง ก่อนต่อเข้าชุดฟังเพลง มาบ้าง ซึ่งอุปกรณ์ที่นำมาต่อนั้นจะมีหลายประเภท ทั้ง Amp, DAC หรือ DAC-Amp ซึ่งในกรณีนี้จะขอกล่าวถึง DAC ก่อนว่ามันคืออะไร และมีไว้ทำอะไรบ้าง วันนี้ Mercular.com จะมาเล่าให้ฟังกันแบบง่ายๆครับ
ขอเท้าความก่อน..
ก่อนที่จะพูดถึงเรื่อง DAC ว่าคืออะไร จะขอเริ่มต้นที่รูปแบบของการจัดเก็บข้อมูล หรือในที่นี้คือเพลงที่ถูกอัด โดยในสมัยก่อนนั้นเวลาเราอัดหรือบันทึกเสียงนั้นจะจัดเก็บในรูปแบบที่เป็นอนาล็อก เช่น เทป หรือแผ่นเสียงไวนิล ซึ่งใช้พื้นที่เยอะอีกทั้งยังต้องระมัดระวังในการเก็บรักษาค่อนข้างมาก จึงทำให้เกิดการแปลงข้อมูลจากอนาล็อกเป็น “ดิจิตอล” เพื่อให้จัดเก็บข้อมูลได้ง่ายและสะดวกต่อการใช้งานมากยิ่งขึ้น ซึ่งการจัดเก็บในรูปแบบดิจิตอลก็คือไฟล์เพลงที่เราใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบันนั่นเอง
แล้วเกี่ยวกันยังไง?
ในปัจจุบันทั้งลำโพง และหูฟังจะต้องรับสัญญาณเป็นอนาล็อกเพื่อถ่ายทอดบทเพลงออกมา ดังนั้นเมื่อเราจะเล่นไฟล์เพลงที่เก็บไว้เป็น “ดิจิตอล” จึงต้องมีการแปลงสัญญาณจาก “ดิจิตอล” กลับมาเป็น “อนาล็อก” ก่อน เพื่อส่งให้ส่วนขยายเสียงหรือแอมป์ ก่อนจะไปยังหูฟังหรือลำโพงต่อไป ซึ่งแน่นอนว่าถ้ามีการแปลงสัญญาณที่ดีข้อมูลที่แปลงกลับมาเป็นอนาล็อกก็จะมีรายละเอียดที่ครบถ้วน และเที่ยงตรง ซึ่งส่งผลให้เสียงที่ได้ “ดีกว่า” การแปลงสัญญาณที่ไม่ดีนั่นเอง ซึ่งเจ้า DAC นี่แหล่ะคือตัวทำหน้าที่แปลงสัญญาณจากดิจิตอลเป็นอนาล็อก ชื่อเต็มๆของมันคือ Digital to Analog Converter ซึ่งหากคุณฟังเพลงจากไฟล์ที่เป็นดิจิตอลเจ้า DAC ถือเป็นหนึ่งในตัวการสำคัญที่จะทำให้ชุดฟังเพลงของเราสามารถถ่ายทอดเสียงออกมาได้ดีเลยทีเดียว
มือถือไม่เห็นต้องต่อ DAC แยกก็เล่นเพลงได้?
จริงๆแล้ว DAC จะมีอยู่แล้วในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิสก์ทุกชนิดที่สามารถเล่นเพลงได้ ไม่ว่าจะเป็น สมาร์ทโฟน, แท็บเล็ต, คอมพิวเตอร์, โน๊ตบุ้ค เพราะถ้าไม่มีเราก็จะไม่สามารถเอาหูฟังหรือลำโพงไปต่อแล้วมีเสียงได้ เพียงแต่ว่า "คุณภาพ" ของ DAC ที่มีอยู่ในอุปกรณ์พวกนี้โดยส่วนใหญ่มักจะสู้ DAC ที่แยกที่ทำออกมาเฉพาะไม่ได้ ทำให้เมื่อเราเอา DAC แยกมาต่อ เพิ่มเพื่อ ข้าม หรือ Bypass การทำงานของ DAC ที่เป็น On-Board ภายในอุปกรณ์ เสียงที่ได้ก็จะดีขึ้น รายละเอียดของชิ้นดนตรี ความเนียนของเสียงร้อง ความเงียบ "สงัด" ของเสียงพื้นหลังจะดีขึ้น (นึกภาพง่ายๆ เหมือนเราใช้การ์ดจอคอมพิวเตอร์แบบ On-Board กับ การ์ดจอแยกในการเล่นเกมส์)
มือถือบางยี่ห้อก็ใช้ DAC คุณภาพสูงแล้ว
จริงที่ว่าในปัจจุบันสมาร์ทโฟนรุ่นท็อปๆ ของหลายยี่ห้อก็ให้ DAC ที่มีคุณภาพสูงมากับตัวเครื่อง (บางยี่ห้อก็ให้ DAC 24 Bit มาเลยทีเดียว) แต่คุณภาพ DAC ก็ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่มีผลต่อคุณภาพเสียง ลองนึกภาพว่าอย่างในมือถือ หรืออุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ต่างๆ ไม่ได้มีวงจรเสียงอย่างเดียว ยังมี CPU, GPU ที่ใช้ในการประมวลผลการทำงานกราฟฟิค, หรือคำนวนต่างๆอีกมากมาย ทำให้ถึงแม้จะมี DAC ที่มีคุณภาพดีแต่การทำงานของมันก็จะถูก "รบกวน" จากวงจรอื่นๆที่มีในอุปกรณ์ จนทำให้มันทำงานได้ไม่เต็มที่ หรือพูดเทียบง่ายๆว่า ถ้า DAC คุณภาพเท่ากันตัวที่ต่อแยกจะทำงานได้ดีกว่านั่นเอง
อีกเรื่องที่สำคัญคือการจ่ายไฟ
ขึ้นชื่อว่าเป็นวงจรณ์อิเล็คทรอนิกส์ การมีไฟหล่อเลี้ยงที่เสถียรและเพียงพอนั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก ดังนั้น DAC แยกส่วนใหญ่จะมีช่องต่อไฟแยกเพื่อให้สามารถจ่ายไฟให้กับวงจรณ์ได้ "นิ่ง" และมีปริมาณที่พอเหมาะต่อการทำงานของ DAC มากที่สุด ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของ DAC ดีขึ้นไปอีกขั้น
ด้วยเหตุผลข้างต้นไม่ว่าจะเป็นการที่ DAC แยกมักใช้ชิพเสียงที่มีคุณภาพสูงกว่า หรือการมีวงจรณ์และภาคจ่ายไฟแยกทำให้ชิปเสียงทำงานได้อย่างเต็มที่ ส่งผลให้เสียงที่เล่นออกมาจาก DAC แยก มักมีรายละเอียดของเพลงที่ครบถ้วนมากกว่าหรือพูดง่ายๆว่าได้ "เสียงที่ดีขึ้น" นั่นเอง
คงพอจะเห็นภาพกันบ้างแล้วนะครับว่าเจ้า DAC นั้นมีหน้าที่และความสำคัญยังไง ทำไมต่อ DAC แยกแล้วทำให้เสียงดีขึ้น หากใครเริ่มสนใจหา DAC แยกมาเสริมชุดฟังเพลงก็สามารถดูได้ที่ DAC, DAC-Amp หรือใครมีข้อมูลอะไรมาพูดคุยกันได้เลยครับ