ประวัติของเก้าอี้เพื่อสุขภาพ และการทำงานแบบ Ergonomic

6 พ.ย. 2566

ประวัติของเก้าอี้เพื่อสุขภาพ และการทำงานแบบ Ergonomic

เก้าอี้เป็นหนึ่งในอุปกรณ์สำหรับพักผ่อนของใครหลาย ๆ คน เพราะในบางครั้งเราเพียงแค่อยากนั่งพักให้หายเหนื่อยจากการทำกิจกรรมมา  ที่เก้าอี้ตัวโปรด หรือบางคนที่ต้องใช้งานเก้าอี้ตลอดทั้งวันในการทำงานออฟฟิศหรือเล่นเกม เพราะแบบนั้น เก้าอี้ก็เลยเป็นสิ่งที่จำเป็นในชีวิตของเรา และหลายคนจึงมีความพิถีพิถันในการเลือกซื้อเก้าอี้ไปใช้งานกันมากขึ้น ซึ่งเก้าอี้ที่หลายคนคงจะเคยได้ยินกันหรือสนใจกันอยู่ ที่ขึ้นชื่อในเรื่องของความสบาย และการช่วยลดอาการปวดหลังได้ก็คงจะเป็นเก้าอี้แบบสุขภาพหรือ Ergonomic นั่นเอง และหลายคนคงจะรู้สึกกันมาคร่าว ๆ ว่ามันคืออะไรแต่คงยังไม่รู้ที่มาของมัน เพราะฉะนั้นวันนี้ทาง Mercular ของเราจะมาเปิดประวัติของเก้าอี้เพื่อสุขภาพ และทำความรู้จักกับการทำงานแบบ Ergonomic ให้เพื่อน ๆ ได้รู้จักกับมันมากยิ่งขึ้น ถ้าพร้อมแล้ว ไปเริ่มกันเลยครับ

เก้าอี้ Ergonomic วิวัฒนาการเพื่อสุขภาพ

Ergonomic-Chair-History-1

กว่าจะเป็น Ergonomic นั้น เก้าอี้ได้มีการพัฒนากันมาหลายต่อหลายครั้งเลยก็ว่าได้ และความเป็นมาของเก้าอี้สุขภาพนั้นมีมาอย่างช้านาน โดยจะเริ่มกันที่


ช่วง 1900 ก่อนคริสตกาล


ในช่วงนั้นทางนักประวัติศาสตร์ได้ค้นพบว่า ในวัฒนธรรมอียิปต์โบราณได้มีการสร้างเก้าอี้ขึ้นมาสำหรับช่างฝีมือ ซึ่งดีไซน์จะมีความเอนไปด้านหน้าเล็กน้อยเพื่อความถนัดและสบายมากขึ้นในการทำงาน


ช่วงต้นปี 1840


เก้าอี้แบบสำหนักงานและสุขภาพก็ได้เริ่มก่อตัวขึ้นเป็นรูปเป็นร่างโดย Charles Darwin นักธรรมชาติวิทยา นักธรณีวิทยา และนักชีววิทยาชาวอังกฤษ ได้ทำการติดล้อไปที่ขาของเก้าอี้ของเขาเพื่อให้สามารถขยับไปมาในห้องทำงานได้สะดวกและคล่องตัวมากขึ้น

Ergonomic-Chair-History-2

ช่วงปี 1849


กลางศตวรรษที่ 19 นั้นได้มีการเปิดตัวระบบรถลางที่สามารถทำการขนส่งของได้มากขึ้น ทำให้ก่อเกิดธุรกิจต่าง ๆ มามากมาย ด้วยเหตุนั้นบางธุรกิจจึงขยับขยายใหญ่โตมากขึ้น และทำให้พนักงานมีมากขึ้นด้วย นั่นจึงทำให้หน้าที่เสมียนนั้นมีความเจริญรุ่งเรืองอย่างมากในตอนนั้น จึงทำให้มีการคิดค้นปละปรับปรุงเก้าอี้แบบใหม่มาเพื่อคนที่ต้องทำงานในท่านั่งตลอดวัน ให้ได้รับความสบายมากขึ้น โดย Thomas E. Warren ได้ออกแบบเก้าอี้แบบใหม่ ด้วยการติดสปริงและหุ้มด้วยเบาะนวม โดยได้ชื่อว่า Centripetal Spring Armchair แถมยังออกแบบให้เก้าอี้หมุนได้ และยังติดล้อ เพื่อการขยับไปมา หรือหยิบสิ่งของได้โดยไม่ต้องยืน


ช่วงปี 1904


เก้าอี้ฆ่าตัวตายได้กำเนิดขึ้น โดยที่ Frank Lloyd Wright ได้คิดค้นออกแบบเก้าอี้ที่ชื่อ Larkin Building chair มาเพื่อให้นักพิมพ์ดีดใช้งาน มาพร้อมดีไซน์ที่น่านั่งและดูนั่งสบายแต่ที่ได้ชื่อเก้าอี้ฆ่าตัวตายมานั้น เนื่องจากสมดุลของเก้าอี้ที่ไม่ดีมากนัก ทำให้ผู้ใช้งานหงายหลังได้ง่าย ๆ นั่นเอง แต่ต้องบอกได้เลยว่านี่คือก้าวสำคัญของเก้าอี้สุขภาพจริง ๆ เลยก็ว่าได้

Ergonomic-Chair-History-3

ช่วงปี 1976


ได้มีการผลิตเก้าอี้เพื่อสุขภาพมากยิ่งขึ้น โดยมีเก้าอี้ที่ออกมาในชื่อ Ergon Chair ซึ่งได้รับการออกแบบโดย Bill Stumpf ดีไซเนอร์จาก Herman Miller เพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้งาน โดยที่ Bill Stumpf ทำการวิจัยเกี่ยวกับเรื่องของสรีรศาสตร์มากยิ่งขึ้น ด้วยการถ่ายรูปพนักงานออฟฟิศในช่วงทำงาน โดยใช้ Time Lapse เพื่อศึกษาด้านสรีรศาสตร์ และ วิเคราะห์พฤติกรรมของพนักงานออฟฟิศ เพื่อสร้างสรรค์เก้าอี้ที่รองรับหลังมากยิ่งขึ้นเพื่อการใช้งานที่สะดวกสบายและเป็นมิตรกับสุขภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งมาพร้อมกับระบบการปรับแบบแก๊สสปริงที่ปรับความสูง/ต่ำของเก้าอี้ได้ รวมไปถึงการรองรับการเอน พร้อมกับเบาะนั่งและพนักพิงที่บุโฟม พร้อมกับขาเก้าอี้แบบ 5 แฉกเพื่อความสมดุล พร้อมล้อเลื่อน


ช่วงปี 1994


ทาง Herman Miller ได้มีการเปิดตัวเก้าอี้รุ่น Aeron Chair ออกมา ซึ่งเป็นการออกแบบร่วมกันของ Bill Stumpf กับ Don Chadwick ที่เรียกได้ว่าเป็นบรรทัดฐานใหม่ของเก้าอี้เลยก็ว่าได้ ด้วยการปรับที่ทำได้อย่างอิสระในทุกจุดของเก้าอี้ วัสดุผ้าตาข่ายที่ระบายอากาศได้ดี ต่างจากรุ่นก่อน ๆ ที่เป็นโฟมบุหนังที่นั่งสบายแต่อึดอัดนั่นเอง เรียกได้ว่าเป็นต้นกำเนิดของเก้าอี้แบบ Ergonomic เลยก็ว่าได้ และหลังจากที่เก้าอี้ตัวนี้ประสบความสำเร็จนั้น ก็ทำให้เก้าอี้สุขภาพนั้นเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น

Ergonomic-Chair-History-4

ปัจจุบัน


ระหว่างทางจนถึงปัจจุบันนี้เก้าอี้สุขภาพนั้นก็ได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง และเก้าอี้ Aeron Chair ก็ยังได้รับความนิยมมาก เพราะเค้าพัฒนาจากแบบดั้งเดิมมาหลายต่อหลายครั้งจนทำให้ทั้งโลกรู้จักกับดีไซน์ Ergonomic มากยิ่งขึ้น แถมยังติดอันดับต้น ๆ ของเก้าอี้ที่ดีที่สุดในทุก ๆ ปี แต่ด้วยราคาที่สูง จึงทำให้มีแบรนด์ที่เข้ามาตีตลาดเก้าอี้สุขภาพมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งยังมากับฟังก์ชันมากมายที่แต่ละแบรนด์คิดค้นขึ้นมาใหม่ในแบบของตัวเอง ซึ่งในบ้านเราก็มีแบรนด์ที่ทำเก้าอี้สุขภาพออกมาพร้อมกับฟังก์ชันเสริมหลังและการใช้งานที่สะดวกมากยิ่งขึ้นหลายต่อหลายแบรนด์ไม่ว่าจะเป็น Modena, Ergotrend, Work Station Office และ Furradec ที่ราคาสบายกระเป๋า แต่ก็มีฟังก์ชันที่ยอดเยี่ยมอยู่นั่นเอง


และนี่คือประวัติของเก้าอี้เพื่อสุขภาพ โดยทุกวันนี้ก็ยังมีการพัฒนาออกมากันอยู่เรื่อย ๆ ซึ่งแต่ละแบรนด์ก็จะขนฟีเจอร์ต่าง ๆ ใหม่ ๆ ออกมาเพื่อตอบโจทย์การนั่งและสุขภาพของผู้ใช้งานมากขึ้น แต่ต้องบอกก่อนว่าเราจถสุขภาพดีขึ้นได้นั้นเก้าอี้เป็นหนึ่งในตัวช่วยเท่านั้น แต่หากเรานั่งไม่ถูกตามหลัก Ergonomic ล่ะก็ก็ทำให้เรายังคงปวดหลังได้เหมือนเดิมนั่นเอง และเราควรนั่งยังไงล่ะ แบบไหนคือถูกหลัก เราไปดูกันกับการทำงานแบบ Ergonomic กับการนั่งที่ถูกต้องตามหลัก จะเป็นยังไง ไปดูกันครับ

การทำงานแบบ Ergonomic

คือการทำงานที่ตอบโจทย์กับหลักสรีรศาสตร์นั่นเอง หากโยงไปถึงเก้าอี้แล้ว ก็คงจะเป็นการนั่งเก้าอี้ที่ถูกต้อง หรือการนั่งที่จัดท่าทางให้เป็นธรรมชาติมากที่สุด เพื่อลดอาการต่าง ๆ ที่อาจจะลามไปถึงปัญหาด้านสุขภาพทั้งการปวดเมื่อยที่หลัง จนอาจจะทำให้เป็นอาการเรื้อรังได้เลยทีเดียว หรือที่แย่ไปอีกขั้นคือลามไปจนถึง office syndrome ภัยร้ายในที่ทำงานเลยก็ว่าได้ เอ๊ะ แล้วนั่งแบบไหนถึงจะเรียกว่าถูกหลัก Ergonomic ก็แค่นั่งลงไปเท่านั้น เก้าอี้สุขภาพก็ช่วยแล้วไม่ใช่เหรอ ข้อนี้เป็นความเชื่อที่ผิดมหันต์เลยครับ งั้นเราไปดูกันดีกว่า ว่าเราควรนั่งยังไง ต้องทำแบบไหนถึงจะห่างไกลจาก office syndrome ถ้าพร้อมแล้วไปดูกันเลยครับ

Ergonomic-Chair-History-5
  • หลังต้องตรง หลังต้องตั้งตรง ไม่งอ ไม่เอียง เพื่อให้หลังอยู่ในท่าที่เหมาะสมเป็นธรรมชาติ 


  • นั่งพิงเก้าอี้ การนั่งพิงเก้าอี้นั้นจะทำให้เรารู้สึกผ่อนคลาย ไม่ต้องเกร็งกล้ามเนื้อบริเวณหลังและคอ 


  • นั่งให้เต็มก้น ควรนั่งให้เต็มก้น เพราะจะทำให้ช่วงล่างผ่อนคลาย เนื่องจากบางคนนั่งไม่เต็มก้น เลยทำให้เวลาลุกนั้น จะมีอาการปวดบริเวณก้นและต้นขาตามมานั่นเอง 


  • ข้อศอกตั้งฉาก 90 องศา ข้อศอกตั้งฉากเป็นองศาที่ดีที่สุดสำหรับการวางแขน เพื่อให้ช่วงไหล่ลงไปถึงข้อมือได้ผ่อนคลาย 


  • เข่าตั้งฉาก 90 องศา ควรนั่งให้เท้าวางติดกับพื้นได้เต็มฝ่าเท้า ไม่ลอยไม่เหลือ เพื่อให้เข่าอยู่ในองศาตั้งฉากพอดี ช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดี ไม่ทับเส้นประสาท และลดอาการปวดเกร็ง



และแน่นอนว่าเก้าอี้สุขภาพ นั้นสามารถปรับได้อย่างอิสระเพื่อรองรับการนั่งที่ถูกหลักได้ด้วยนั่นเอง บอกเลยว่าหากนั่งถูกต้องตามหลักแล้วล่ะก็ ก็จะทำให้ฟังก์ชันของเก้าอี้สุขภาพนั้นเห็นผลมากยิ่งขึ้น พร้อมกับตัวเราเองที่มีสุขภาพกายที่ดีมากขึ้นด้วยนั่นเอง

Ergonomic-Chair-History-6

เป็นไงกันบ้างครับกับประวัติของเก้าอี้สุขภาพ และการทำงานแบบ Ergonomic ที่เรานำมาฝากกันในวันนี้หากใครที่กำลังมองหาเก้าอี้สุขภาพที่เรากล่าวมาอยู่ล่ะก็ สามารถเข้ามาเลือกชมได้ทาง Mercular ของเราได้เลย เรามีให้เลือกหลายหลายแบรนด์ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ดังอย่าง Sihoo, Steelcase, Modena, Ergotrend และอื่น ๆ อีกมากมาย พร้อมให้เพื่อน ๆ ได้สัมผัสกับเก้าอี้คุณภาพและสุขภาพที่ดีได้ภายใน Mercular.com ของเราเลยครับผม


ขอบคุณข้อมูลจาก : modenafurniture, penkethgroup, thematte, creativetalkconference, patexstore, indexlivingmall, elifegear

best-seller-ads
article-banner-1
article-banner-2