จำนวนไดร์เวอร์หูฟัง มีผลต่อเสียงแค่ไหน?
22 พ.ย. 2560
เคยสงสัยไหมครับว่า ไดร์เวอร์ (Driver) หูฟังที่หลายๆแบรนด์นำมาโปรโมทกัน มีความสำคัญต่อเสียงจริงๆรึเปล่า หรือเป็นเพียงคำโฆษณาชวนเชื่อที่ทำให้ คนเล่นหูฟังมือใหม่ ไขว้เขว และคล้อยตามกันไป ที่เจ๋งก็มี ที่พลาดก็เยอะ ซึ่งในบทความนี้ Mercular.com จะช่วยไขข้อสงสัยเกี่ยวกับไดร์เวอร์ของหูฟังกันครับ เริ่มแรกเลยเราต้องมาทำความเข้าใจถึงชนิดไดร์เวอร์หูฟังกันก่อน เพราะว่าแต่ละชนิดจะมีลักษณะเด่นไม่เหมือนกันนั่นเอง ว่าแต่จะมีชนิดไหนบ้างมาติดตามกันเลยครับ
ไดร์เวอร์หูฟัง ชนิดต่างๆ
1. Dynamic Driver
ไดร์เวอร์แบบไดนามิก พบได้มากตามท้องตลาด ถือเป็นไดร์เวอร์ที่ใช้กันกันมานานแล้ว ตั้งแต่มีการผลิตหูฟังมา ไม่ว่าจะเป็น Headphone ทั้งแบบครอบหู และแนบหู รวมไปถึงหูฟังอย่าง Earbud และ In-Ear ก็ตามทีอย่างใช้ Driver แบบไดนามิกกันทั้งนั้น จุดเด่นของไดร์เวอร์ชนิดนี้อยู่ที่ความเป็นธรรมชาติของเสียง เสียงกลางสมจริง เสียงสูงพลิ้ว ลื่นไหล และให้เบสที่มีอิมแพคหรือแรงประทะค่อนข้างลึกเลยทีเดียว
2. Balanced Armature Driver
สำหรับไดร์เวอร์ชนิดต่อมาค่อนข้างถูกพูดถึงเยอะในพักหลังๆ เพราะทาง FiiO เองไม่ว่าจะเป็นรุ่น F9 ที่ออกมาใหม่ต่างใช้ B.A Driver ผสมกันแทบทั้งสิ้น จุดเด่นคือมีขนาดเล็ก แยกเสียงในแต่ละย่านความถี่ได้ชัดเจน โดยปกติแล้วเราจะพบไดร์เวอร์ชนิดนี้ได้ในหูฟังประเภทมอนิเตอร์ (IEM/CIEM) ในส่วนของเสียงจะให้รายละเอียดชนิดที่ว่าละเอียดจริงๆ การแยกชิ้นดนตรีเองก็ทำได้อย่างอัศจรรย์ มีความสมจริง เสียงสูงทอดตัวได้ยาว คมใส เป็นประกาย จุดอ่อนอยู่ที่เสียงเบส ไม่สามารถทำได้ดีเทียบเท่า Dynamic Driver ครับ
3. Planar Magnetic Driver
แค่ชื่อก็บ่งบอกแล้วว่าไดร์เวอร์ชนิดนี้ใช้ความสามารถของแม่เหล็กเป็นหลัก หลักการทำงานของมันง่ายมาก เพียงส่งกระแสไฟไปที่แม่เหล็ก ระหว่างไดอะเฟรม เพื่อให้เสียงออกมานั่นเอง นิยมใช้ในหูฟังประเภท Headphone (Full-Size) มากกว่า จุดเด่นของไดร์เวอร์ประเภทนี้อยู่ที่เสียงเบสที่ค่อนข้างอิ่ม มีมวลขนาดใหญ่ แรงปะทะดี อีกทั้งยังให้ไดนามิคที่เป็นธรรมชาติด้วยครับ สำหรับไดร์เวอร์ประเภทนี้ หากมีแอมป์มาช่วยขับเสียงอีก ก็สามารถยกประสิทธิภาพในการทำงานได้อีกเท่าตัวเลยทีเดียว
4. Electro Static Driver
ไม่ค่อยเห็นในตลาดสักเท่าไหร่ เนื่องจากเป็นไดร์เวอร์ที่มีขนาดใหญ่ หนัก และต้องการแอมป์ช่วยขับเป็นอย่างมาก (ใช้ไฟเยอะตามชื่อเลยครับ) อีกทั้งยังมีราคาค่อนข้างแพง จุดเด่นของไดร์เวอร์ชนิดนี้คือมิติเสียงที่กว้างกว่าหูฟังชนิดอื่นๆ ชิ้นดนตรีโดดเด่น กำหนดทิศทางได้ชัดเจน จับต้องได้ โดยเฉพาะเสียงเบสที่มีมวลเยอะ แรงปะทะมีความดุดัน เรียกได้ว่าเสียงดีที่สุดในบรรดาไดร์เวอร์ทั้งหมดเลยทีเดียว แต่อย่างที่บอกครับว่าต้องมีแอมป์มาช่วย จึงทำให้ไดร์เวอร์ประเภทนี้พบเห็นได้ยาก เนื่องจากไม่เป็นที่นิยมนั่นเอง
หูฟัง Driver เยอะแล้วเป็นยังไง?
หลังจากที่ทำความรุ้จักชนิดไดร์เวอร์คร่าวๆกันแล้ว เราก็จะพามาในส่วนของการประกอบหูฟังกันบ้างว่าจำนวนไดร์เวอร์ที่ทางแบรนด์ใส่เข้ามา จะส่งผลถึงเสียงได้อย่างไร...
โดยส่วนใหญ่แล้วหูฟังทั่วไปจะประกอบไปด้วยไดร์เวอร์เดียว แต่ระยะหลังหูฟังแบรนด์ดังๆ มักเพิ่มลูกเล่นในเรื่องของเสียงเข้ามาโดยใส่จำนวนไดร์เวอร์ที่มากขึ้นและผสมชนิดไดร์เวอร์กันเช่น หูฟัง A ประกอบด้วย 1 Dynamic และ 1 Balanced Armature เท่ากับว่าเสียงที่ได้ก็จะมีความผสมกันเหมือนว่าไดร์เวอร์แบบ Dynamic จะช่วยอุดจุดอ่อนของ B.A. ในเรื่องของเสียงเบสนั่นเอง โดยเฉพาะหูฟังระดับ Audiophile ที่มีราคาสูงมักใส่ไดร์เวอร์มาหลายตัว ตรงนี้จะทำให้เสียงดีขึ้นชัดเจน เมื่อเทียบกับหูฟังไดร์เวอร์เดียว เพราะเจ้า Driver ที่เพิ่มเข้ามา สมมุติว่ามี 3 ตัว มันจะแบ่งหน้าที่แยกเสียงได้ชัดเจน เช่น ตัวที่ 1 เป็นเสียงกลาง ตัวที่ 2 เสียงสูง ตัวที่ 3 เสียงเบส เป็นต้น ทำให้เสียงไม่ตีกันมั่วและมีมิติ รวมถึงชั้นเสียงที่มากขึ้นนั่นเอง
สรุป
ดังนั้น ระหว่างหูฟัง 1 ไดร์เวอร์ กับหูฟังหลายไดร์เวอร์ ต้องบอกว่าหูฟังที่มีไดร์เวอร์หลายตัวค่อนข้างให้เสียงดีกว่าแน่นอนครับ แต่ในขณะเดียวกันตรงนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ฟังเองว่าอยากได้อะไรจากหูฟังที่กำลังจะซื้อมากกว่า หากต้องการรายละเอียด โดยที่ไม่เน้นเสียงเบส บางทีการซื้อหูฟังที่ใช้ไดร์เวอร์แบบ B.A. ก็น่าจะเพียงพอแล้วครับ ท้ายที่สุดแล้วการเลือกซื้อหูฟังโดยดูจากจำนวนไดร์เวอร์ อาจเป็นเพียงแค่องค์ประกอบหนึ่งเท่านั้น เพราะในบางครั้งไดร์เวอร์เดียว ฟังแล้วถูกใจ ดีกว่า หลายไดร์เวอร์ แต่ไม่ชอบแนวเสียงที่เพิ่มเข้ามานั่นแหละครับ หรือพูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ จำนวนไดร์เวอร์ทำให้เสียงดีขึ้นจริงๆ แต่หูเราอาจจะไม่ชอบเสียงนั้นนั่นเอง