Home Theater จัดยังไงให้ได้เสียงเหมือนโรงหนัง กระหึ่มทุกทิศ

3 ก.พ. 2566

Home Theater จัดยังไงให้ได้เสียงเหมือนโรงหนัง กระหึ่มทุกทิศ

​Home Theater จัดยังไงให้ได้เสียงเหมือนโรงหนัง

เมื่อพูดถึงไลฟ์สไตล์การรับชมภาพยนตร์ในปัจจุบันก็ต้องยอมรับเลยว่ามีการพัฒนาทางเทคโนโลยีไปไกล ไลฟ์สไตล์หรือขั้นตอนการในการรับชมนั้นมีการเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิงจากเดิมที่จะต้องไปรับชมที่ภาพยนตร์เมื่อมีภาพยนตร์เข้าฉายใหม่ ที่เรียกได้ว่าเป็นขั้นตอนที่วุ่นวายพอสมควร และเมื่อเทียบกับเทคโนโลยีการรับชมภาพยนตร์ในปัจจุบันที่ผู้ใช้งานสามารถรับชมภาพยนตร์และซีรีส์ได้หลากหลายเรื่องจากที่บ้านผ่านเทคโนโลยีการสตรีมมิ่งภาพยนตร์บน Application ต่างๆ เช่น Netflix, Amazon Prime, Disney+ hotstar และอื่นๆ ที่สามารถรับชมภาพยนตร์และซีรีส์ได้จากที่บ้านโดยไม่ต้องเสียเวลาออกไปข้างนอกเพื่อไปโรงภาพยนตร์ก็พูดได้เลยว่ามีความสะดวกสบายและประหยัดเวลาได้มากขึ้น


ซึ่งจุดเด่นของการรับชมภาพยนตร์ผ่านแอปสตรีมมิ่งไม่ได้มีแค่ความสะดวกสบายเท่านั้น แต่ในเรื่องของคุณภาพในส่วนของภาพและเสียงนั้นก็เรียกได้ว่าทำได้อย่างยอดเยี่ยมไม่แพ้กัน โดยในส่วนของเสียงก็รองรับระบบเสียงที่สมจริงไม่แพ้กับระบบเสียงในโรงภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็นระบบเสียง Stereo, Dolby Digital Surround 5.1 ไปจนถึงเสียงรอบทิศทางสมจริงแบบ Dolby Atmos เลยทีเดียว ซึ่งการจะรับชมภาพยนตร์ที่บ้านให้ได้ประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยมแน่นอนว่าก็ย่อมที่จะต้องมีระบบลำโพง Home Theater และแน่นอนว่าระบบลำโพง Home Theaterก็ย่อมที่จะต้องมีการใช้งานพื้นที่มากกว่าปกติ


ซึ่งลำโพง Home Theater ก็มีหลายขนาดและหลายหลากแบบให้เลือกซื้อกัน แต่ปัญหาคือส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าจะจัดลำโพงยังไง และซื้อลำโพงแบบไหนถึงจะได้คุณภาพเสียงเหมือนกับที่เราได้ฟังในโรงหนัง หรือไม่เหมือนเป๊ะ แต่ได้อารมณ์ใกล้เคียงก็ยังดี วันนี้เลยจะมาแนะวิธีในการ setup ลำโพงเพื่อให้ได้อารมณ์เดียวกับในโรงหนัง

โฮมเธียเตอร์ มีกี่ขนาด ขนาดไหน เหมาะกับชุดไหน

ดูความเหมาะสมของโฮมเธียเตอร์ กับขนาดห้อง


จริง ๆ แล้วขนาดห้องตามปกตินั้นพูดได้ว่ามีหลากหลายขนาดด้วยกัน ขึ้นอยู่กับความประสงค์ในการใช้งานห้องนั้น ๆ ผู้ใช้งานบางคนอาจจะชอบความโล่งพื้นที่เยอะ ๆ ก็มักที่จะมีขนาดห้องที่ใหญ่ ส่วนผู้ใช้งานบางคนก็อาจจะชอบขนาดที่มีความพอดี ๆ ไม่กว้างจนเกินไป หรือมีข้อจำกัดในเรื่องขนาดจากประเภทที่อยู่อาศัย เช่นอาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียมหรือบ้านประเภททาวน์เฮาส์ ตึกแถว เป็นต้น แต่ถ้าหากจะให้แบ่ง ขนาดห้องโฮมเธียเตอร์ ก็พูดได้ว่าสามารถแบ่งได้แบบชัดเจน เพราะการจะใช้งานลำโพงหรือชุดโฮมเธียเตอร์นั้นสิ่งแรกที่เราต้องรู้คือ กำลังขับที่เหมาะสมกับพื้นที่ เพราะถ้ากำลังขับน้อยแต่พื้นที่กว้าง จะทำให้เสียงไม่ครอบคลุมและไม่สามารถสร้างเสียงรอบทิศทางได้อย่างสมจริง แต่จะดีที่สุดคือการเลือกชุด Home Theater ที่กำลังขับสูง ๆ เข้าไว้ เพราะชุด Home Theater ที่กำลังขับสูงๆจะให้ Dynamic ที่ดีกว่าชุด Home Theater กำลังขับต่ำ ๆ ที่สำคัญแค่เปิดนิดเดียวก็ได้มิติมาเต็มๆ ยกเว้นว่างบเราจำกัดก็พยายามเลือกให้กำลังขับเหมาะสมกับห้องของเรา โดยปรกติห้องเล็กทั่วไประดับ 3X3 เมตร ลำพังกำลังขับระดับ 60W - 100W ก็พอเพียงต่อการใช้งานแล้ว


ดูการติดตั้งชุดลำโพงที่เหมาะสม


การวางลำโพงที่ถูกต้องและเหมาะสมก็ช่วยให้ได้มิติที่สมจริงเช่นเดียวกัน โดยปรกติแล้ว ชุด Home Theater ถ้าเป็นแบบ set จะมาพร้อมชุดลำโพงด้วย ถ้าเป็น 5.1 ก็จะให้ลำโพงมา 5 ชุด พร้อม Subwoofer 1 ตัว ส่วน 7.1 ก็จะให้มาทั้งหมด 7 ชุด พร้อม Subwoofer 1 ตัว แต่ถ้าเป็นระบบเสียงแบบ Dolby Atmos แบบ 7.1.2 ก็ให้ลำโพงมาทั้งหมด 9 ชุด พร้อม Subwoofer 1 ตัว ดังนั้นการติดตั้งลำโพงเรียกว่าสำคัญมาก เพราะถ้าเราเว้นระยะไม่ถูกต้องก็จะให้เสียงได้ไม่ครบคลุมรอบทิศทางอย่างสมจริงเลยทีเดียว


โดยปรกติในระบบของ AVR รุ่นใหม่ๆจะมีไมค์ที่ทำหน้าเป็นตัวช่วยในการติดตั้งลำโพงโดยจะเรียกระบบนี้ว่า “Auto Calibration” ทำให้เราสามารถวางระยะห่างของลำโพงแต่ละตัวได้อย่างถูกต้องและตรงกับขนาดของห้องที่เราอยู่ แต่ในกรณีที่ไม่มีตัวช่วย หรือเป็น AVR ในยุคเก่าๆ จะต้องใช้ วิธีการติดตั้งพร้อมกับการตั้งค่าด้วยตัวเอง ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องยากถ้าเราทำตามวิธีต่อไปนี้

โฮมเธียเตอร์ มีกี่ขนาด ขนาดไหน เหมาะกับชุดไหน

ขั้นตอนแรกเตรียมอุปกรณ์ก่อนติดตั้ง ซึ่งอุปกรณ์จะประกอบไปด้วย


  • ตลับเมตร หรือ Digital Laser Distance Meter สำหรับใช้วัดระยะห่างของ
  • ลำโพง Sound Level Meter ใช้วัดระดับเสียงของลำโพง ถ้าหาไม่ได้จริง ๆ จะใช้ Smartphone ที่ติดตั้งแอพวัดระดับเสียงก็พอถูไถแทนได้ แต่ต้องบอกไว้ก่อนคุณภาพไมโครโฟนของ Smartphone แต่ละรุ่นนั้น ดี-แย่แตกต่างกัน อาจกระทบกับความเที่ยงตรง ใช้อ้างอิงคร่าว ๆ พอได้ แต่ต้องประเมินระดับเสียงด้วยหูอีกครั้ง
  • หากต้องการยืนยันความแม่นยำหลังการเซ็ตอัพ จำเป็นต้องอาศัย เพลง หรือแผ่น/คลิปทดสอบระบบเสียงรอบทิศทาง ที่มีคุณภาพเสียงดีในการอ้างอิง


ขั้นต่อมา เตรียมการติตตั้ง


“ตำแหน่งติดตั้งลำโพง” นั้นถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะส่งผลกับคุณภาพการถ่ายทอดเสียงรอบทิศทางที่ดี Dolby ผู้กำหนดมาตรฐานเสียงเซอร์ราวด์ที่เรารู้จักกันดีจึงได้กำหนดตำแหน่งติดตั้งลำโพง 5.1 ไว้เป็นไกด์ไลน์คร่าว ๆ ดังภาพ พูดง่ายๆ หากเราสามารถวางตำแหน่งลำโพงได้ตามในภาพก็มีโอกาสที่จะได้เสียงรอบทิศทางที่สมจริงได้ง่ายมากขึ้น


อีกจุดที่สำคัญคือตำแหน่งการวางลำโพง ซึ่งการวางลำโพงที่ถูกต้องควรมีรูปแบบดังนี้


  • ลำโพงหน้าซ้าย-ขวา (FL/FR) ควรติดตั้งให้ระดับความสูงของตัวขับเสียงแหลม (Tweeter) พอดีหรือใกล้เคียงกับระดับหูผู้ฟัง
  • ลำโพงเซ็นเตอร์ (C) ด้วยข้อจำกัดที่ต้องวางในตำแหน่งที่ไม่บดบังจอทีวี ความสูงจึงอาจสูงหรือต่ำกว่าลำโพงหน้าซ้าย-ขวาได้ ความแตกต่างของความสูง ไม่ควรห่างกันเกิน 2 ฟุต (60 ซม.) แต่หากระดับใกล้เคียงกันมากเท่าไหร่ยิ่งดี
  • ลำโพง Surround (SL/SR) อาจติดตั้งในระดับความสูงใกล้เคียงกับระดับหูผู้ฟังได้ หรือจะติดตั้งให้สูงกว่าระดับหูก็ดีเช่นกัน (แต่ห้ามต่ำกว่าระดับหูเป็นอันขาด !)
  • ลำโพง Subwoofer (SW) หากวางที่มุมห้อง จะได้ปริมาณเบสมากที่สุด อย่างไรก็ดีการวางที่ตำแหน่งอื่น อาจจะส่งผลดีในเรื่องของความกลมกลืนต่อเนื่องของเสียง หรือเพื่อลดทอนปัญหาเสียงความถี่ต่ำที่เกิดจากห้อง (Room Modes) ดังนี้ถ้าหากไม่ลำบากจนเกินไปแนะนำให้ทดลองวางซับวูฟเฟอร์ในตำแหน่งต่าง ๆ กัน แล้วเปรียบเทียบผลลัพธ์ดูว่า จุดไหนที่ให้ความลงตัวด้านเสียงได้ดีกว่าเพราะแต่ละห้องอาจส่งผลไม่เหมือนกันครับ
โฮมเธียเตอร์ มีกี่ขนาด ขนาดไหน เหมาะกับชุดไหน

ขั้นที่สาม กำหนดระยะห่างของลำโพง 


สำหรับระบบเซอร์ราวด์รอบทิศทางนั้น หากเสียงจากลำโพงแต่ละแชนเนลเดินทางมาถึงหูผู้ฟังในช่วงเวลาที่ไม่สัมพันธ์กัน ย่อมจะส่งผลลดทอนความแม่นยำในการโยนเสียงระหว่างแชนเนลให้ผิดเพี้ยนไปได้ เหตุนี้การกำหนดหน่วงเวลา (Delay Time) ชดเชยตามระยะห่างของตำแหน่งตั้งวางลำโพงในห้อง จึงเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะช่วยให้เสียงของลำโพงทุกแชนเนลมาถึงหูของผู้ฟังในช่วงเวลาที่เหมาะสม และสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันอย่างลงตัว 


ขั้นตอนดำเนินการตั้งค่า Distances ก็ไม่ยากครับ เพียงแค่ใช้ตลับเมตร (หรือ Digital Laser Distance Meter) วัดระยะลำโพงถึงจุดนั่งฟังว่าห่างเท่าไหร่ (ควรดึงสายวัดให้ขนานไปกับพื้น ไม่เชิดขึ้นหรือกดลง)


หลังจากนั้นให้เข้าไปใน mode การตั้งค่าของ AVR เพื่อเลือกกำหนดระยะห่างของลำโพงตามระยะที่เราวัดเอาไว้ โดยต้องวางระยะลำโพงให้ตรงกับที่เราตั้งต่าเพื่อให้เสียงออกมาได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด



ขั้นที่สี่ ชดเชยระดับเสียงของลำโพง


หากเสียงของลำโพงแชนแนลใดแชนเนลหนึ่งดังกว่าปกติ จะส่งผลให้น้ำหนักเสียงเทไปยังตำแหน่งลำโพงแชนเนลนั้นมากเกินไป การถ่ายทอดบรรยากาศเสียงก็จะสูญเสียบาลานซ์ไป และเกิดปัญหาที่เรียกว่า “เวทีเสียงเอียง” ดังนี้จึงควรชดเชยระดับเสียงของลำโพงทุกแชนเนลให้เท่าเทียมกัน


และในส่วนของลำโพงซับวูฟเฟอร์ หากกำหนดระดับเสียงดังเกินไป จะสร้างปัญหาเบสบวม เสียงความถี่ต่ำที่อื้ออึงจะบดบังรายละเอียดเสียงย่านอื่น ฟังแล้วคลุมเครือ ขาดความสดใส แต่ถ้าเสียงจากซับวูฟเฟอร์ออกมาน้อยเกินไป ก็จะขาดน้ำหนัก เสียงแห้งบาง ในจุดนี้อาจต้องอาศัยวัดระดับเสียงด้วยเครื่องมือร่วมกับการประเมินด้วยหู


วิธีการวัดระดับเสียงทำได้โดยให้ถือ หรือยึด Sound Level Meter กับขาตั้ง ในลักษณะที่ไมโครโฟนชี้ขึ้นด้านบน ซึ่งเป็นลักษณะที่เอื้อให้ไมโครโฟนสามารถรับเสียงจากลำโพงโฮมเธียเตอร์ที่อยู่โดยรอบจุดนั่งฟังได้ดีใกล้เคียงกัน จากนั้นปรับ Weighting ไปที่ตำแหน่ง C และ Response ไปที่ Slow


จุดที่ควรระวังในระหว่างขั้นตอนวัดระดับเสียงลำโพง คือ ตัวผู้ถือต้องไม่บังทิศทางเสียงของลำโพงและไมโครโฟน และภายในห้องควรต้องเงียบสงัดปราศจากเสียงรบกวนอื่น


จากนั้นให้เข้าไปในโหมดการติดตั้ง หรือ ตั้งค่า ของ AVR เพื่อส่วนที่เป็น Test Tone หรือ Sound Test ถ้าเสียงเบาไปสามารถเร่งเสียงจาก AVR ได้ หลังจากที่มีเสียงออกมาให้เอาเครื่องวัดเสียงเข้าไปจ่อที่ลำโพงหน้าซ้ายก่อน จำตัวเลขที่ได้ จากนั้นให้ไล่มาวัดที่ลำโพง center ถ้าความดังไม่เท่ากันให้ปรับเพิ่มชดเชยเสียงจากในโหมดการตั้งค่าให้เท่ากัน ทำในแบบเดียวกันกับลำโพงทุกตัวเพื่อให้เสียงบาลานซ์เท่ากันหมด


ประเมินเสียง และ ปรับจูน


หลังจากดำเนินการจนครบทั้ง 3 ขั้นตอนแล้ว น่าจะได้ความลงตัวดีในระดับหนึ่ง ต่อไปก็เป็น การฟังเพื่อประเมินเสียงหลังการเซ็ตอัพ ซึ่งสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน แนะนำให้ลองกับเพลงหลากหลายแนว ไปจนถึงภาพยนตร์ โดยหากหาแผ่นอ้างอิงที่บันทึกเสียงดี ๆ ได้ จะช่วยให้การประเมินผลลัพธ์มีความแม่นยำกว่า ซึ่งในจุดนี้เราอาจจะมีการจูนซัพ จูนเสียงโดยรวมเพิ่มเติม ซึ่งเมื่อทุกอย่างลงตัวแล้ว เสียงที่ได้ออกมารับรองกระหึ่มถูกใจเหมือนนั่งฟังในโรงหนังเลยทีเดียว

best-seller-ads
article-banner-1
article-banner-2