เลือกซื้อคีย์บอร์ดยังไงให้ตอบโจทย์ กดสนุก ครบทุกการใช้งาน
7 มี.ค. 2566
เสียงต๊อกแต๊กดังสนั่นไปทุกออฟฟิศ แมคคานิคอลคีย์บอร์ดไม่เพียงนิยมในหมู่เกมเมอร์เพียงเท่านั้นอีกต่อไป คนทำงานทั่วไปก็เริ่มหันมาใช้งานแมคคานิคอลคีย์บอร์ดกันมากยิ่งขึ้น และไม่หยุดเพียงเท่านั้น นอกจากวงการแมคคานิคอลคีย์บอร์ดได้ความนิยม บางคนไปถึงขั้นการเป็นนักคัสตอมคีย์บอร์ด เลือกตั้งแต่ขนาด แผงวงจร ชิ้นส่วนภานในต่างๆ แผ่นโฟมซับเสียง นั่งหลังแข็งลูปสวิตซ์เพื่อให้สัมผัสและเสียงของคีย์บอร์ดเป็นไปตามต้องการมากที่สุด ซึ่งราคาของคัสตอมคีย์บอร์ด ก็เริ่มตั้งแต่หลักพัน และจบได้ที่หลายแสนบาทเลยทีเดียว
แต่สำหรับคนที่เพิ่งเข้าวงการคีย์บอร์ด ก็มักมีคำถามที่ยากจะตอบ “เลือกซื้อคีย์บอร์ดอย่างไร” หรือ “ต้องเลือกซื้อขนาด Layout เท่าไหร่” ซึ่งเป็นคำถามที่คนเล่นคีย์บอร์ดเป็นกันในช่วงแรกๆ และไม่ต้องกังวล แม้การเลือกซื้อคีย์บอร์ดอาจมีหลายคำถามที่ต้องตอบหลายหัวข้อ แต่หากเราสามารถตอบความต้องการของตัวเองได้ คีย์บอร์ดของเราก็จะเข้ามือ และเข้ากับการใช้งานมากที่สุด
วันนี้ Mercular ขอเป็นผู้ช่วยให้กับผู้ที่เพิ่งเข้าวงการคีย์บอร์ด อยากมีแมคคานิคอลคีย์บอร์ดเป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะนำไปเล่นเกม หรือทำงานก็สามารถตอบโจทย์ได้ พบกับ “เลือกซื้อคีย์บอร์ดยังไงให้ตอบโจทย์ กดสนุก ครบทุกการใช้งาน” ถ้าพร้อมแล้ว ก็เตรียมตอบคำถามให้พร้อม แล้วเราไปเริ่มกันเลยครับ
ก่อนซื้อคีย์บอร์ด ต้องดูอะไรบ้าง
เราได้คัดหัวข้อหลักๆ สำหรับการเลือกซื้อคีย์บอร์ดมาให้ดูและตัดสินใจกันครับ แมคคานิคอลคีย์บอร์ด และคัสตอมคีย์บอร์ดก็เหมือนกับการเลือกซื้อสินค้าทั่วไป ต้องมีโจทย์การใช้งานของเราเสียก่อน จากนั้นถึงจะสามารถเจาะลึกลงไปถึงขนาดของสินค้า ฟีเจอร์เด่นของสินค้า รวมถึงการเชื่อมต่อเพื่อให้สอดคล้องกับรูปแบบการใช้งานของเรามากที่สุด โดยตัวคีย์บอร์ดแล้วเราสามารถแบ่งการใช้งานออกเป็น 2 รูปแบบหลักๆ นั่นคือ คีย์บอร์ดเกมมิ่งสำหรับเล่นเกม และคีย์บอร์ดสำหรับการทำงาน เมื่อเราทราบรูปแบบการนำไปใช้งานแล้ว เรามาดูหัวข้อหลักๆ ที่ต้องเลือกเพื่อให้ได้คีย์บอร์ดของเรากันครับ
ขนาด
ขนาดของคีย์บอร์ดไม่ได้บ่งบอกถึงขนาดความกว้าง ความยาว ความสูง แต่หมายถึงขนาด Layout ของคีย์บอร์ดตัวนั้นๆ ยิ่งมีเลขเปอร์เซ็นต์เยอะ จำนวนปุ่มก็จะเยอะตาม และสุดที่ 100% หรือ Full-Size ที่เราเห็นกันเป็นปกติ มีปุ่มฟังก์ชัน (ปุ่มF) ปุ่มตัวเลข และปุ่มคำสั่งครบๆ และปุ่มจะถูกตัดไปเรื่อยๆ เมื่อ Layout หรือขนาดของคีย์บอร์ดลดลง ซึ่งมีหลายกิจกรรม หรือรูปแบบงานที่ไม่ต้องใช้ปุ่มครบๆ แบบนั้น ทำให้ถึงขนาดเล็กลง ปุ่มหาย ก็ยังใช้งานได้อยู่
สวิตซ์
สวิตซ์ในที่นี้คือชิ้นส่วนที่อยู่ระหว่างแผงวงจร และคีย์แคป หรือที่ครอบปุ่มที่เราจะเห็นเป็นตัวอักษรกัน สวิตซ์มีหลักๆ 3 รูปแบบ ที่ให้สัมผัสการกด และเสียงที่แตกต่างกันไป เสียงจะต๊อก จะติ๊ก หรือจะแกร๊กๆ ตัวสวิตซ์จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ได้ตามต้องการนั่นเอง
การเชื่อมต่อ
การเชื่อมต่อของคีย์บอร์ดมีทั้งแบบมีสาย และไร้สาย ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการใช้งานและอุปกรณ์ที่เรานำไปต่อใช้งานด้วย สมัยนี้โน๊ตบุ๊คมักไม่มีพอร์ตการเชื่อมต่อมาให้เยอะ หรืออาจถูกตัดออกไป ฉะนั้นการเชื่อมต่อไร้สายอาจตอบโจทย์กว่า หรือสำหรับเกมเมอร์ที่ต้องการความเสถียรสูง การเชื่อมต่อแบบมีสายที่มั่นใจได้ในเรื่องการสั่งสัญญาณและไม่ต้องคอยกังวลเรื่องแบตเตอรี่จึงตอบโจทย์กว่า
ฟีเจอร์เสริม
การทำงานก็ต้องการฟีเจอร์แบบหนึ่ง การเล่นเกมก็ต้องการฟีเจอร์เสริมอีกแบบ ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราควรตอบคำถามใหญ่อันแรกว่า “เราจะนำเจ้าคีย์บอร์ดตัวนี้ไปทำอะไร” เพื่อจะได้เลือกซื้อฟีเจอร์เสริมให้ตอบโจทย์การใช้งานมากที่สุด อย่างฟีเจอร์ที่ทำให้เรากดหลายปุ่มพร้อมกันสำหรับการเล่นเกม หรือจะเป็นฟีเจอร์การเปลี่ยนอุปกรณ์เชื่อมต่อภายในคลิกเดียว ก็เหมาะสำหรับคนทำงานที่ใช้อุปกรณ์หลายเครื่องพร้อมกัน
เลือกซื้อคีย์บอร์ด ดูที่ขนาด
ขนาดของคีย์บอร์ด คือขนาด Layout ของคีย์บอร์ดตัวนั้นๆ มีตั้งแต่ 100% หรือ Full-Size ที่มาพร้อมปุ่มแบบครบๆ ใช้งาน เล่นเกมได้เต็มระบบ จะใช้ตัวเลขก็มีปุ่มนัมแพดทางด้านขวา จะใช้ปุ่มฟังก์ชันก็มีพร้อม แต่สำหรับบางคน งานที่ทำไม่ต้องใช้ปุ่มเยอะขนาดนั้น ก็สามารถเลือกซื้อขนาดที่เล็กลงมาหน่อย จะได้ประหยัดพื้นที่การใช้งานบนโต๊ะคอม และยังช่วยให้การพกพาง่ายยิ่งขึ้นด้วย เรามาดูขนาดยอดนิยมที่คนเลือกใช้กันครับ
Full-Size
ขนาดที่ไม่ว่าใครก็ต้องเคยผ่านมือมา ครบทุกปุ่ม ไม่ต้องกลัวว่าจะมีปุ่มไหนหายไป เหมาะสำหรับคนที่ใช้งานตัวเลขเป็นหลัก เพราะสำหรับคนไทยหากไม่ได้ใช้ปุ่มตัวเลขจากนัมแพด ก็ต้องคอยเปลี่ยนภาษาเพื่อใช้ตัวเลขแถวล่างปุ่มฟังก์ชันเหมือนกับคีย์บอร์ดบนโน๊ตบุ๊คบางตัว คีย์บอร์ด Full-Size จึงเป็นมิตรกับคนใช้งานตัวเลขสุดๆ แต่ก็มีข้อจำกัดคือกินพื้นที่ค่อนข้างมาก และยังพกพาได้ลำบากสักหน่อยครับ
TKL (Tenkeyless)
หรือคีย์บอร์ดขนาด 80% ตัวนี้นิยมเป็นอย่างมากสำหรับเกมเมอร์ เพราะตัดส่วนตัวเลขออก ทำให้ประหยัดพื้นที่ และลดช่องว่างระหว่างมือทั้งสองข้าง ไม่ต้องกางมากเกินไป เล่นเกมได้ถนัดมากยิ่งขึ้น แต่เมื่อไม่มีปุ่มตัวเลข ทำให้เข้าถึงการกดตัวเลขได้ยาก และเล่นเกมบางรูปแบบได้ไม่เต็มระบบนั่นเอง
75%
เป็นขนาดคีย์บอร์ดที่นิยมเป็นอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าการวางปุ่มนั้นแปลกตา นั่นเป็นเพราะนอกจากจะตัดปุ่มนัมแพดหรือชุดตัวเลขออก ปุ่มคำสั่งบางปุ่มถูกย้ายไปทางขวา และชิดปุ่มทิศทางเข้ามา มีข้อดีคือพกพาได้ง่าย ประหยัดพื้นที่บนโต๊ะ เหมาะสำหรับการเล่นเกม และคนทำงานที่ไม่ได้ใช้ปุ่มตัวเลขเป็นหลัก แต่มีข้อจำกัดคือด้วยการเปลี่ยน Layout การวางปุ่ม ทำให้ต้องใช้เวลาในการคุ้นชินสักเล็กน้อยครับ
65%
ถ้าคิดว่า 75% ยังเล็กไม่พอ ก็ยังมีให้เลือกอย่างคีย์บอร์ด 65% ตัวนี้ตัดปุ่มฟังก์ชัน หรือแถวปุ่ม F ด้านบนออกไปด้วย และชิดปุ่มให้เข้าหากันมากขึ้น ทำให้มีขนาดเล็กสุดๆ พกพาได้ง่าย ประหยัดพื้นที่โต๊ะทำงานสุดๆ เหมาะสำหรับเกมเมอร์ที่คิดไว้แล้วว่าปุ่มที่เหลืออยู่เพียงพอต่อรูปแบบเกมที่เล่น และคนทำงานที่ใช้ตัวอักษรเป็นหลัก แต่ก็มีข้อจำกัดคือด้วยปุ่มที่หายไปหลายส่วน ทำให้ต้องใช้โปรแกรมเสริมเพื่อสร้าง Layer เพื่อให้ใช้งานปุ่มที่หายไปได้ รวมถึงปุ่มที่ชิดกันเกินไป ทำให้ต้องใช้เวลาสักพักเพื่อให้เข้ามือครับ
สำหรับขนาดคีย์บอร์ดไม่ได้จบเท่านี้ ยังมีให้เลือกอย่าง 96% 60% จนถึง 40% และยังไม่มีท่าทีว่าจะไปสุดตรงไหน ยิ่งเล็ก ปุ่มก็ยิ่งน้อยลง แต่สำหรับคนไทยที่ตัวอักษรมีจำนวนมากกว่าภาษาอังกฤษ ก็อาจจะใช้งานยากหน่อยถ้าคีย์บอร์ดมีขนาดเล็กกว่า 60% ลงไป เพราะหากเลยขนาดนี้ไปแล้ว แถวตัวเลขด้านบนก็ถูกตัดไปอีก หายไปหลายตัวอักษรเลยครับ
เลือกซื้อคีย์บอร์ด ดูที่สวิตซ์
สวิตซ์คีย์บอร์ดคือชิ้นส่วนที่อยู่ระหว่างแผงวงจรเพื่อรับคำสั่ง และคีย์แคปที่เป็นตัวครอบสวิตซ์อีกทีที่มีตัวอักษรให้เราได้ทราบว่ากำลังกดตัวไหนอยู่ สวิตซ์มีด้วยกัน 3 รูปแบบหลักๆ ซึ่งจะให้เสียง และสัมผัสที่ต่างกัน การเลือกสวิตซ์ที่ตอบโจทย์จะช่วยให้เรากดได้สนุก และเข้ามือมากยิ่งขึ้น
สวิตซ์ Linear
สวิตซ์กดลื่น จังหวะเดียว คล้ายกับสวิตซ์คีย์บอร์ดทั่วไปที่เลือกใช้เป็น Rubber dome แต่ให้สัมผัสดีกว่า เสียงเงียบ ตอบสนองรวดเร็ว ไม่เมื่อยนิ้ว เหมาะสำหรับการเล่นเกม FPS ที่ต้องการความรวดเร็ว รวมถึงนำไปใช้ทำก็ยังได้ มีข้อจำกัดตรงที่อาจกดลั่น หรือกดพลาดได้ง่าย เพราะมีความลื่นมากที่สุด
สวิตซ์ Clicky
สวิตซ์กด 2 จังหวะ เมื่อออกแรงจังหวะแรกไป ต้องออกแรงอีกสักเล็กน้อยเพื่อไปจังหวะต่อไป พิมพ์สนุกเพราะมีเสียงคลิกๆ เฉพาะตัว แต่เสียงกดก็จะดังที่สุดในทั้ง 3 รูปแบบ ต้องออกแรงกดเยอะ จึงป้องกันการกดพลาดได้ดี เหมาะสำหรับการเล่นเกม หรือการทำงานในห้องคนเดียว เพราะเสียงที่ดังอาจรบกวนผู้ใช้งานหรือคนรอบข้างได้
สวิตซ์ Tactile
สวิตซ์ที่อยู่ระหว่าง Linear และ Clicky เป็นสวิตซ์ 2 จังหวะ มีเสียงเบากว่า และออกแรงน้อยกว่า Clicky ทำให้ตอบสนองได้รวดเร็วและยังป้องกันการกดพลาดได้ดีเช่นกัน เหมาะสำหรับการเล่นเกมและการทำงานสุดๆ เพราะพิมพ์สนุกเอามากๆ แต่ก็มีข้อจำกัดที่มียังพอมีเสียงกดระหว่างใช้งานอยู่ครับ
สวิตซ์ทั้ง 3 รูปแบบนี้ แม้จะมีจังหวะหรือรูปแบบการกดคล้ายกัน แต่เมื่อแตกต่างกันไปตามแบรนด์ ก็จะมีเสียง สัมผัส และแรงกดไม่เท่ากัน ทำให้ผู้ใช้งานมีทางเลือกมากขึ้น เช่น อาจจะชอบสวิตซ์ Linear ที่กดจังหวะเดียว แต่ไม่ชอบที่ลื่นเกินไป ก็สามารถเลือกสวิตซ์ตัวที่ต้องออกแรงกดมาก เพื่อสัมผัสการกดที่ตรงตามต้องการมากขึ้นครับ
เลือกซื้อคีย์บอร์ด ดูที่การเชื่อมต่อ
แม้ในยุคสมัยนี้อุปกรณ์หลายอย่างย้ายการเชื่อมต่อเป็นแบบไร้สายกันหมด แต่การเชื่อมต่อแบบมีสายก็ยังได้รับความนิยมในหมู่คนใช้คีย์บอร์ดเช่นกัน ซึ่งการเชื่อมต่อแบบไร้สายและมีสายก็มีข้อดีข้อจำกัดแตกต่างกันไป รวมถึงคีย์บอร์ดบางตัว ก็มาพร้อมการเชื่อมต่อที่ทำได้ทุกรูปแบบด้วย ฉะนั้นในหัวข้อการเชื่อมต่อนี้ ควรดูทีอุปกรณ์ที่จะนำคีย์บอร์ดไปใช้งานเป็นหลักครับ
การเชื่อมต่อแบบมีสาย
คีย์บอร์ดที่เชื่อมต่อแบบมีสายมักมาพร้อมกับพอร์ต USB-A ที่หลายคนคุ้นเคยกัน แต่ก็มีบางแบรนด์เปลี่ยนไปใช้ USB-C แล้วก็มี ทำให้เข้ากันได้ดีกับโน๊ตบุ๊ค หรือคอมพิวเตอร์ยุคใหม่ที่มีพอร์ตแบบครบๆ มีข้อดีคือหาซื้อง่าย รูปแบบการใช้งาน Plug and Play เสียบแล้วใช้งานได้ทันที ไม่ต้องคอยชาร์จแบตเตอรี่ให้ยุ่งยาก และยังเสถียร ไม่ต้องกังวลเรื่องสัญญาณรบกวนหรือปัญหาที่มักเจอกับคีย์บอร์ดไร้สาย
แต่ก็มีข้อจำกัดอย่างสายที่เชื่อมต่อมักเกะกะ และทำให้โต๊ะทำงานไม่สวย บางตัวสายติดกับคีย์บอร์ดเลย แกะออกไม่ได้ ทำให้พกพาลำบาก และที่สำคัญ อุปกรณ์ที่ใช้งานร่วมต้องมีพอร์ตการเชื่อมต่อด้วย มันจึงไม่สามารถใช้งานร่วมกับอุปกรณ์พกพาอย่างสมาร์ตโฟน หรือแท็บเล็ตครับ
การเชื่อมต่อแบบไร้สาย
ระบบไร้สายบนคีย์บอร์ดมีด้วยกัน 2 รูปแบบ นั่นคือ ไร้สายผ่าน Wireless 2.4GHz ที่เชื่อมต่อด้วยดองเกิล USB แบบนี้จะเชื่อมต่อง่าย เอาดองเกิลเสียบแล้วใช้งานได้เลยทันที ไม่มีสายเกะกะ แต่ก็ยังมีข้อจำกัดด้านอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อด้วยต้องมีพอร์ต USB แถมหากดองเกิลสูญหาย จะทำให้ไม่สามารถใช้งานได้ครับ
ส่วนอีกการเชื่อมต่อไร้สายจะเป็นระบบ Bluetooth ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก แน่นอนว่า Bluetooth มีติดตั้งในทุกอุปกรณ์ที่เราใช้งาน ทำให้มันเข้ากันได้ดีกับคอมพิวเตอร์ โน๊ตบุ๊ค และอุปกรณ์พกพาอย่างสมาร์ตโฟนและแท็บเล็ต ที่สมัยนี้ใครก็นำมาใช้ทำงานนอกสถานที่กันหมด แต่ก็มีข้อจำกัดอย่างต้องกดเชื่อมต่อหลายขั้นตอน หาอุปกรณ์เชื่อมต่อไม่เจอ และอาจเจออาการดีเลย์ได้อีก ส่วนปัญหาที่ไม่ว่าระบบไร้สายไหนๆ ก็ต้องเจอคือ ต้องหมั่นชาร์จแบตเตอรี่เป็นประจำ ไม่งั้นแบตเตอรี่อาจหมดระหว่างการเล่นเกมหรือทำงานได้นั่นเองครับ
เลือกซื้อคีย์บอร์ด ดูที่ฟีเจอร์เสริม
ฟีเจอร์เสริมถือเป็นอีกจุดที่ควรดูเลยครับ เพราะบางรูปแบบการใช้งานจำเป็นต้องมีฟีเจอร์นั้นๆ เพื่อให้ใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ ดังนั้นหากเลือกจากความสวยงามเสร็จแล้ว ลองแวะเข้าไปดูสเปกของสินค้าสักเล็กน้อย เพื่อให้ได้คีย์บอร์ดที่เหมาะกับการใช้งานมากที่สุด โดยเรามีตัวอย่างฟีเจอร์ที่มักมาพร้อมกับคีย์บอร์ดสมัยนี้ แต่ต้องบอกก่อนว่าคีย์บอร์ดหนึ่งตัว ก็อาจมีหลายฟีเจอร์ บางตัวมีหมดตามที่เรากำลังจะพูดถึง แต่ก็มีบางการใช้งานที่ต้องมีฟีเจอร์นี้โดยเฉพาะ ถึงจะดีที่สุด แล้วฟีเจอร์ไหนน่าสนใจบ้าง มาดูกันครับ
Knob
มาแรงเลยครับสำหรับคีย์บอร์ดที่มาพร้อม Knob หรือก็คือตัวหมุนที่มักอยู่มุมขวาบนของคีย์บอร์ด โดยคำสั่งพื้นฐานของมันคือการหมุนเพื่อปรับลดเสียง
แต่บางคีย์บอร์ดที่รองรับโปรแกรมตั้งค่า ก็สามารถปรับคำสั่งการหมุนให้เป็นอย่างอื่นได้ เช่น หมุนเพื่อซูมเข้า ซูมออก เมื่อเปลี่ยนได้ การใช้งานมันก็จะหลากหลายมากยิ่งขึ้น
N-Key Rollover
อันนี้เกมเมอร์ที่มองหาคีย์บอร์ดเล่นเกมต้องดูไว้เลยครับ ปกติแล้วคีย์บอร์ดทำงานทั่วไปจะจำกัดการกดปุ่มบนคีย์บอร์ด บางตัวกดได้ 3-4 ปุ่มพร้อมกัน มากกว่านั้นจะแจ้งเตือน หรือไม่ส่งคำสั่งไป แต่สำหรับการเล่นเกมที่อาจต้องกดมากกว่านั้นพร้อมกัน ไหนจะเดิน ไหนจะบังคับทิศทาง เติมเลือด ออกสกิล กดปิงพื้นที่ เยอะไปหมด
ฟีเจอร์ N-Key Rollover จึงเข้ามาช่วยเพื่อให้ทุกการกดของเรา ส่งได้ทุกคำสั่ง คีย์บอร์ดไม่งงไปก่อน เกมเมอร์ต้องดูฟีเจอร์นี้ดีๆ เลยครับ
Hot-Swappable
ฟีเจอร์นี้เพิ่งเข้ามีบทบาทในไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยปกติแล้วสวิตซ์ของคีย์บอร์ดจะติดเข้ากับแผงวงจรด้วยการบัดกรีขาสวิตซ์เข้าไปเลย ถ้าอยากเปลี่ยน หรือมีตัวไหนเสียต้องบัดกรีออกอย่างเดียว ฟีเจอร์ Hot-Swappable นี้จึงเข้ามาช่วย ให้แผงวงจรสามารถติดตั้งสวิตซ์ได้ง่ายเพียงใส่ให้ตรงช่อง และถอดออกได้ง่ายไม่ต้องบัดกรี จึงเหมาะสำหรับคนที่ชอบอะไรใหม่ๆ อยากลองสวิตซ์ใหม่ อยากถอดออกมาลูปง่ายๆ ส่วนมากจะเจอฟีเจอร์นี้ในคัสตอมคีย์บอร์ด และ Barebone ที่ให้เราต้องหาสวิตซ์มาประกอบเอง ไม่มีมาให้ในชุด แต่ก็เจอได้ในคีย์บอร์ดเกมมิ่งตัวใหม่ๆ เช่นกันครับ
ไฟ RGB
ความวิบวับมันไม่เข้าใครออกใคร จะเกมเมอร์ หรือคนทำงานก็อยากสนุกไปกับการพิมพ์ การกดพร้อมกับแสงไฟที่สว่างวาบออกมาจากคีย์บอร์ด ไฟ RGB นี้ไม่จำกัดอยู่แค่คีย์บอร์ดเกมมิ่งอีกต่อไป คีย์บอร์ดทำงานก็มีเช่นกัน ถ้ามาพร้อมโปรแกรมเสริมที่ปรับแต่งการแสดงไฟได้ ก็ยิ่งเพิ่มความหลากหลายไปอีกครับ สนุกแน่นอน แถมยังช่วยให้เห็นคีย์ในพื้นที่แสงน้อยอีกด้วย แต่ถ้าคีย์แคปแสงไม่ลอด อันนี้เปิดไฟห้องทำงานดีกว่าครับ ไม่เสียสายตา
ซอฟต์แวร์
หลายคนคิดว่าไม่สำคัญ แต่สำหรับบางการใช้งานที่ต้องการเพิ่มคำสั่ง หรือปรับเปลี่ยนคำสั่งรายปุ่ม ซอฟต์แวร์ถือมีความจำเป็นอย่างมาก รวมทั้งคีย์บอร์ดขนาดเล็กๆ บางครั้งปุ่มที่หายไปจำเป็นต้องใช้งาน หากมีซอฟต์แวร์ที่รองรับการสร้าง Layer ก็ช่วยให้ปุ่มที่หายไปเหล่านั้นกลับมาใช้งานได้ด้วยการใช้คีย์ลัดที่เราตั้งค่าเอง ส่วนเกมเมอร์ หรือคนทำงานที่ต้องการสร้างชุดคำสั่งหรือปุ่มมาโคร ก็ยิ่งจำเป็นต้องใช้ซอฟต์แวร์เลยครับ
Easy Switch
ฟีเจอร์นี้มักมีในคีย์บอร์ดไร้สายในระบบ Bluetooth ที่สมัยนี้สามารถเชื่อมต่อเข้ากับอุปกรณ์ได้พร้อมกันตั้งแต่ 3 ตัว จนถึง 8 ตัวก็ยังมี ทำให้อุปกรณ์ที่เคยเชื่อมต่อไปแล้วหนึ่งครั้ง สามารถกลับมาเชื่อมต่อและใช้งานได้ทันทีโดยไม่ต้องกดเชื่อมต่อใหม่ เพียงกดสลับอุปกรณ์บนคีย์บอร์ดเท่านั้น ฟีเจอร์นี้เหมาะสำหรับคนทำงานสุดๆ ไปเลยครับ ด้วยคีย์บอร์ดตัวเดียวกันนี้สามารถใช้งานร่วมกับคอมพิวเตอร์ที่ออฟฟิศ โน๊ตบุ๊คที่บ้าน สมาร์ตโฟนและแท็บเล็ตสำหรับการออกไปทำงานนอกสถานที่ โดยไม่ต้องมีหลายคีย์บอร์ดเลยครับ
ใช้งานแบบนี้ ควรเลือกคีย์บอร์ดแบบไหน
อ่านมาตั้งนาน แต่หลายคนก็ยังคงไม่เห็นภาพว่าคีย์บอร์ดที่กำลังตามหาควรหน้าตาเป็นอย่างไร เราจึงมีตัวอย่างมาให้ดูกันว่าคีย์บอร์ดที่แบ่งไปตามการใช้งาน ควรมีสเปกแบบไหน ขนาดเท่าไหร่ การเชื่อมต่อรูปแบบใดถึงจะเหมาะต่อการใช้งาน แต่ต้องบอกว่านี้เป็นเพียงไกด์เท่านั้นนะครับ ความจริงแล้วเราสามารถยืดหยุ่นบางสเปก เพื่อให้มันตรงกับการใช้งานของเรามากขึ้นนั่นเอง
สำหรับนำไปเล่นเกม
เล่นเกมทั่วไป
ควรเลือกขนาด TKL ลงไป เพื่อให้มีพื้นที่กวาดเมาส์มากขึ้น และยังช่วยให้แขนสองข้างไม่กางมากเกินไป ลดอาการเมื่อยแขนลงได้ ส่วนสวิตซ์ก็เลือกได้ทั้ง Linear และ Tactile กดลื่น กดเร็ว การเชื่อมต่อแนะนำว่าควรมีสาย เพราะจะได้ส่งสัญญาณได้เสถียร ไม่ต้องคอยกังวลเรื่องแบตเตอรี่ ส่วนฟีเจอร์เสริม ก็ควรดูว่ามี N-Key Rollover จะได้กดพร้อมกันหลายปุ่มได้ และซอฟต์แวร์ จะได้ตั้งค่าคำสั่งรายปุ่ม และสร้างชุดปุ่มมาโครได้
เล่นเกม FPS
จะคล้ายกับคีย์บอร์ดสำหรับเล่นเกมเลยครับ แต่สำหรับเกม FPS ที่ใช้ปุ่มน้อย ก็สามารถเลือกขนาดได้เล็กสุดๆ ที่ 65% เลย เพิ่มพื้นที่ได้เยอะมากขึ้น ส่วนสวิตซ์ก็แนะนำเป็น Linear ที่มีความลื่น กดได้รวดเร็ว จะได้ตอบสนองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นภายในเกมได้ทันท่วงที ส่วนการเชื่อมต่อและฟีเจอร์เสริม ก็เหมือนกับคีย์บอร์ดเล่นเกมทั่วไปเลยครับ เพราะเป็นสิ่งที่คีย์บอร์ดเกมมิ่งควรจะมี
สำหรับนำไปทำงาน
ทำงานทั่วไป
เรื่องขนาดก็แล้วแต่ความต้องการเลยครับ ควรดูรูปแบบการทำงานของตนเองว่าใช้ปุ่มไหน และไม่ใช่ปุ่มไหนบ้าง จะได้เลือกตัดได้ถูก อย่างผู้เขียนก็เลือกใช้คีย์บอร์ด 65% ก็เพียงพอต่อการใช้งานแล้วครับ ส่วนสวิตซ์ก็เลือกได้หมด ไม่ว่าจะรูปแบบไหน แต่หากกดกลัวลั่น ก็แนะนำเป็น Clicky และ Tactile แต่ควรระวังเรื่องเสียงเป็นหลัก เพราะมีเสียงค่อนข้างดังทั้งสองตัว
การเชื่อมต่อ หากเลือกแบบไร้สายก็จะดี เพราะจะได้พกพาได้ง่าย ไม่มีสายมาเกะกะ ฟีเจอร์เสริมที่ควรมีจะเป็น Easy Switch ที่ทำให้เชื่อมต่อและสลับสับเปลี่ยนอุปกรณ์ได้หลายเครื่อง ส่วน Hot-Swappable จะมีก็ได้ หรือไม่มีก็ได้ครับ แต่ถ้ามี สวิตซ์จะได้ถอดเปลี่ยนง่าย ไม่ต้องบัดกรีให้ยุ่งยากครับ
ทำงานตัวเลข
สำหรับงานตัวเลขแล้ว ก็ต้องเลือกใช้ Full-Size ที่มีนัมแพดหรือชุดตัวเลขมาให้ เข้าถึงการกดตัวเลขได้รวดเร็ว สวิตซ์ก็แล้วแต่ความถนัด แต่หากกลัวกดผิด ก็เลือก Clicky ที่ลดการกดพลาดได้ดี ออกแรงเยอะ แต่ก็จะเมื่อยนิ้วบ้าง การเชื่อมต่อแบบไร้สายจะช่วยให้โต๊ะเป็นระเบียบมากขึ้น ไร้สายเกะกะ ส่วนฟีเจอร์เสริมก็เหมือนทำงานทั่วไปเลยครับ
ทำงานไม่สนใจใคร
ทำงานในห้องคนเดียว หรือทำงานในออฟฟิศ แต่เป็นตัวแม่จะแคร์เพื่อ ก็เลือกจัดหนักเอาแบบสะใจกันไปเลย ด้วยขนาดคีย์บอร์ดตามใจชอบ สวิตซ์ Clicky แบบสับ กดดังเบิร์นหูเล่นๆ จัดแบบไร้สาย จะได้ยกไปไหนมาไหนได้สะดวก เรามันตัวแม่ จะยกไปทำงานระเบียงคอนโดก็ยังได้ ฟีเจอร์เสริมก็ตามต้องการ แต่พื้นฐานสำหรับทำงานก็ยังควรมีอย่าง Easy Switch หรือ Hot-Swap แต่ถ้าตัวแม่มากก็เอาไฟ RGB เปิดให้มันกระแทกตาเพื่อน ตาหัวหน้า ตา HR ให้เขาสนใจ แล้วพูดถึง “นี่ๆ คนนี้ไง ตัวแม่ห้องบัญชี”
เลือกซื้อคีย์บอร์ดยังไงให้ตอบโจทย์ ไม่ยากอย่างที่คิด
เป็นอย่างไรกันบ้างครับสำหรับวิธีการเลือกซื้อคีย์บอร์ดยังไงให้ตอบโจทย์ คนที่เพิ่งเข้าวงการ อาจเจอข้อมูลใหม่ๆ เยอะเต็มไปหมด ไหนจะขนาด ไหนจะสวิตซ์ สวิตซ์ก็มีหลายรูปแบบ นี่ยังไม่รวมสายเชื่อมต่อที่มีทั้งสายตรง สายขด คีย์แคปที่มีหลายโปรไฟล์ ไหนจะเสียงและสัมผัสอีก ไม่ต้องห่วงครับ ในคีย์บอร์ดตัวแรกสำหรับมือใหม่ สามารถนำหัวข้อเหล่านี้ไปเลือกซื้อคีย์บอร์ดได้เลย และหากถูกใจ ชอบแมคคานิคอลคีย์บอร์ดมากขึ้น ก็สามารถไปศึกษาต่ออีกหน่อย เพื่อให้คีย์บอร์ดตัวหน้า ตรงกับความต้องการมากยิ่งขึ้น ทั้งสัมผัส เสียง และรูปแบบการใช้งาน
หากใครกำลังมองหาแมคคานิคอลคีย์บอร์ด คัสตอมคีย์บอร์ด หรือชิ้นส่วนประกอบคีย์บอร์ดอยู่ ที่ Mercular เรามีสินค้าให้เลือกมากมาย คัดสรรจากแบรนด์ชั้นนำ สินค้าคุณภาพ การรับประกันหลังการขายหายห่วงครับ