หลักการดูแลรักษาลำโพงหรือหูฟังง่ายๆ ให้ดูเหมือนของใหม่เสมอ
17 พ.ย. 2559
เคยไหม? ที่ใช้หูฟังอยู่ดีๆแล้วรู้สึกว่าเสียงขาดๆหายๆ ไม่ว่าจะเป็นการฟังเพลงหรือคุยโทรศัพท์แล้วต้องมาลุ้นโดยการขยับสายไปมาเพื่อให้เสียงติดใหม่ ทำให้หลายคนอาจจะรู้สึกว่า “ทำไมหูฟังที่ซื้อมาตั้งแพงกลับไม่ทนเลย” ซึ่งต้องบอกว่า ในหลายๆครั้งที่หูฟังมีปัญหาก็มาจากการใช้งานหรือเก็บหูฟังโดยไม่ถูกวิธีนั่นเอง ซึ่งในวันนี้ Mercular.com ได้มีทริคเล็กน้อยสำหรับการดูแลรักษาและเก็บหูฟัง ทำให้เรามีความสุขกับการฟังเพลงได้นานขึ้นมาแบ่งปันกัน
1. อย่าเบิร์นแรง
หูฟังบางตัวเมื่อประกอบมาใหม่ ตัวดอกลำโพงหรือ Driver จะถูกขึงมาค่อนข้างตึง ถ้าหากเราเปิดเสียงดังอัดเข้าไปขณะทำการ Burn-In หูฟัง จะทำให้โอกาสที่ Driver เกิดการฉีกขาดมีมาก ควรจะเบิร์นในความดังระดับที่เราฟังปกติ หรือดังกว่าเล็กน้อยนั่นเอง
2. เวลาถอดจับที่ขั้ว
ในขณะที่ถอดหูฟังออกจากเครื่องเล่นเพลงหรือสมาร์ทโฟน ให้จับที่ขั้วหูฟังแล้วดึงออก อย่าดึงที่สายเป็นอันขาดเพราะจะทำให้เกิดปัญหาสายขาดในที่ทำให้เสียงติดๆดับๆได้
3. ใส่หูฟังก่อนแล้วค่อยเปิดเพลง
หูฟังแบบอินเอียร์ควรจะใส่หูฟังเข้าในหูของเราก่อน แล้วค่อยเปิดเพลงจากเครื่องเล่น เพราะในระหว่างที่เราเปิดเพลง Driver ของหูฟังจะมีการขยับหรือทำงานอยู่ ซึ่งหากเราเปิดเพลงก่อนในจังหวะที่ใส่หูฟังเข้าหูนั้นจะมีแรงดันกระแทกจากรูหูเข้าสู่ตัวหูฟัง ซึ่งนอกจากจะส่งผลเสียต่อไดรเวอร์แล้ว ก็ทำร้ายเยื่อแก้วหูเราเช่นเดียวกัน
4. เบาเสียงลง
การฟังเพลงที่ดังเกินไปมากนอกจากจะส่งผลเสียงต่อหูฟังแล้ว ยังส่งผลเสียต่อหูของเราด้วยเช่นกัน ดังนั้นควรฟังในความดังที่พอเหมาะ ไม่ดังเกินไปต่อเนื่องเป็นเวลานาน
5. หูฟังเล็กต้องระวังเรื่องแรงขับ
สำหรับหูฟังขนาดเล็กเช่นหูฟัง In-Ear หรือ Earbud การต่อกับเครื่องเล่น, แอมป์บางชนิด หรือแม้กระทั่งคอมพิวเตอร์ จะมีแรงขับมากเกินกว่าที่หูฟังจะรับได้ ซึ่งส่งผลให้หูฟังพังไวขึ้นนั่นเอง
6. เก็บใส่กล่องหรือกระเป๋า
ควรหากล่องหรือกระเป๋าสำหรับเก็บหูฟังโดยเฉพาะ เพราะหากวางไว้แล้วโดนของกดหรือทับ ไม่จะเป็นแรงกดทับเพียงเล็กน้อยแต่หากโดนบ่อยๆ หรือเป็นระยะเวลานาน ก็ทำให้หูฟังเสียหายได้เช่นกัน
7. เก็บสายให้เป็นระเบียบ
การที่เราเก็บสายหูฟังไม่เป็นระเบียบ อาจจะทำให้เกิดสายพันกันเป็นปมได้ ซึ่งหากเป็นหลายๆครั้งก็มีโอกาสที่จะทำให้สายขาดในได้เช่นกัน โดยวิธีการพันสายหูฟังนั้นหากเป็นหูฟังพกพาให้เอาสายพันรอบนิ้วเรา 3 นิ้ว (นิ้วชี้, นิ้วกลาง, นิ้วนาง) โดยพยายามพันให้เป็นลักษณะวงกลมมากที่สุด อย่าหักหรือพับสายมาก เพราะจะทำให้สายขาดในได้
8. ลดเบสลงหน่อย
เสียงเบสเป็นเสียงที่ทำร้ายหูฟังได้มากที่สุด การที่เราใช้ฟังก์ชันต่างๆ อย่าง Bass Boost เพื่อเร่งย่านความถี่ต่ำมากเกินไป ถึงแม้ว่าจะมีหูฟังสำหรับเบส แต่ถ้าเราเร่งมากเกินจนหูฟังจะรับได้ ก็เสียหายได้เหมือนกัน
9. หลีกเลี่ยงที่ร้อนและชื้น
อย่าเก็บหูฟังในที่ๆร้อนหรือชื้นเกินไป เพราะจะทำให้หูฟังเสื่อมสภาพและมีอายุการใช้งานสั้นลง
10. ทำความสะอาดบ้าง
หลังการใช้งานควรใช้สำลีหรือผ้าชุบแอลกอฮอล์และเช็คทำความสะอาดหูฟัง ไล่ตามสายลงมาเพราะเอาคราบเหงื่อหรือคราบสกปรกต่างๆออกจากสายและตัวหูฟัง เพราะถ้าเราทิ้งคราบเหงือไว้นานๆจะทำให้สายแข็งและกรอบได้
เรียบร้อยไปแล้วครับสำหรับวิธีการดูแลรักษาหูฟังแบบง่ายๆ ให้อยู่คู่กับเราไปนานๆ ทางทีมงาน Mercular.com หวังว่าบทความวิธีการดูแลรักษาหูฟังนี้ จะทำให้เหล่านักฟังเพลงได้ประโยชน์หรือใช้หูฟังได้นานและ “คุ้มค่า” กับเงินที่เสียไปมากยิ่งขึ้น สำหรับใครที่มีทริคเด็ดๆเพิ่มเติมในเรื่องของการดูแลรักษาหูฟังหรือไปลองทำแล้วได้ผลยังไงมาแชร์กันได้เลย