ต่อลำโพง 2 คู่ 4 โอห์ม คืออะไร? มารู้จักวิธีการต่อลำโพงแบบต่างๆ กัน

4 ก.พ. 2565

ต่อลำโพง 2 คู่ 4 โอห์ม คืออะไร? มารู้จักวิธีการต่อลำโพงแบบต่างๆ กัน

สำหรับผู้ที่ชื่นชอบเครื่องเสียง แน่นอนว่าพอใช้งานชุดเครื่องเสียงเดิมที่มีอยู่ไปได้สักระยะก็จะเริ่มเกิดความอยากที่จะอัพเกรดระบบเครื่องเสียงของตัวเองให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น อัพเกรดคุณภาพลำโพง เพิ่มจำนวนลำโพงให้เป็นชุดที่สมบูรณ์แบบมากขึ้น คำถามที่พบบ่อยสำหรับผู้ที่ยังไม่เชี่ยวชาญก็คือจะต่อลำโพงยังไงดี ค่าโอมคืออะไร มีผลอย่างไร ใช้เท่าไรดี ต่อลำโพง 2 คู่ 4 โอม ทำยังไง และอีกสารพัดคำถาม บทความนี้ Mercular.com จะมาอธิบายเรื่องการต่อพ่วงลำโพงแบบเข้าใจง่าย สามารถนำไปปรับใช้ในการต่อลำโพงได้จริง ถ้าพร้อมแล้ว ไปดูกันเลยครับ

ต่อลำโพง 2 คู่ 4 โอม คืออะไร? มารู้จักวิธีการต่อลำโพงแบบต่างๆ กัน

รู้จักค่าโอห์ม (Ohm)

ก่อนที่จะเริ่มการต่อพ่วงลำโพง สิ่งแรกที่ควรรู้จักก็คือค่าโอห์ม ค่าโอห์ม (Ohm) คือหน่วยของความต้านทาน (Impedance) ในวงจรไฟฟ้ากระแสสลับที่มีผลต่อเฟสทางไฟฟ้า สัญลักษณ์คือ Ω ค่าโอห์มบนตัวลำโพงบ่งบอกการดึงกระแสไฟฟ้าของลำโพงตัวนั้นๆ ยิ่งลำโพงมีค่าโอห์มต่ำยิ่งต้องการกำลังขับสูง 


โดยทั่วไปลำโพงบ้านอย่างชุดลำโพงโฮมเธียเตอร์จะมีค่าโอห์มอยู่ที่ประมาณ 6-8 โอห์ม ส่วนลำโพงที่มีความต้านทาน 4 โอห์มส่วนใหญ่จะเป็นลำโพงติดรถยนต์ ค่าโอมที่ต่ำหมายถึงลำโพงตัวนั้นดึงกระแสไฟฟ้ามากจึงต้องใช้งานร่วมกับแอมป์ที่มีกำลังขับสูง มีคุณภาพดี ระบายความร้อนได้ดี เพื่อให้ลำโพงทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ เพราะถ้าใช้แอมป์ไม่สอดคล้องกับค่าโอห์มแล้วแอมป์ก็จะทำงานหนัก เกิดความร้อนสะสม อาจเกิดความเสียหายไปจนถึงแอมป์ไหม้ได้


ทั้งนี้ ตัวเลขค่าโอห์มที่ระบุในข้อมูลสเปคของลำโพงนั้นไม่ใช่ค่าตายตัวแต่เป็นค่าที่บ่งบอกว่าลำโพงรุ่นนั้นออกแบบมาให้เหมาะสมกับการใช้งานที่ค่าความต้านทานเท่าไหร่ การในใช้งานจริงอาจค่าโอห์มจะสูงหรือต่ำกว่านี้เล็กน้อยซึ่งไม่มีผลกับการทำงานของลำโพงแต่อย่างใด

การต่อลำโพงมีแบบไหนบ้าง?

รู้จักค่าความต้านทานและค่าโอห์มของลำโพงกันไปแล้ว ทีนี้เราก็จะเข้าใจหลักการการต่อลำโพงเบื้องต้นได้มากขึ้นเพราะค่าโอห์มมีผลกับการต่อลำโพงโดยตรง โดยในปัจจุบันนั้นการต่อลำโพงจะมีด้วยกัน 3 รูปแบบ ได้แก่


  • การต่อลำโพงแบบอนุกรม (Series)
  • การต่อลำโพงแบบขนาน (Parallel)
  • การต่อลำโพงแบบผสม (Series-Parallel)
ต่อลำโพง 2 คู่ 4 โอม คืออะไร? มารู้จักวิธีการต่อลำโพงแบบต่างๆ กัน

การต่อลำโพงแบบอนุกรม (Series)


การต่อลำโพงแบบอนุกรม (Series) คือ การต่อลำโพงโดยเอาขั้วบวก (+) ของดอกลำโพงตัวแรก ไปต่อกับขั้วลบ (-) ของดอกลำโพงอีกใบ การต่อลำโพงแบบอนุกรมมีผลทำให้ค่าความต้านทานรวมเพิ่มมากขึ้น


การคำนวณหาค่าค่าความต้านทานรวมก็ง่ายๆ คือเอาค่าโอห์มของดอกลำโพงแต่ละตัวมาบวกกัน เช่น ต่อลำโพง 2 คู่ 4 โอห์ม มีดอกลำโพงทั้งหมด 4 ดอก ทุกดอกมีค่าความต้านทาน 4 โอห์มเท่ากัน ค่าความต้านทานรวมของระบบก็จะอยู่ที่ 4 + 4 + 4 + 4 = 16 โอห์ม


แม้จะเป็นวิธีที่ง่ายแต่การต่อลำโพงแบบอนุกรมก็มีข้อจำกัดคือ หากลำโพงตัวใดตัวหนึ่งในระบบมีปัญหาหรือเกิดเสียขึ้นมา ลำโพงที่เหลือก็จะไม่ทำงาน เสียงไม่ออก และอีกหนึ่งข้อจำกัดคือยิ่งต่อลำโพงจำนวนมากขึ้นความต้านทานรวมก็จะยิ่งมากตาม กำลังขับจากแอมป์ก็จะมาไม่ถึง เกิดการสูญเสียสัญญาณเสียง ทำให้เสียงที่ออกมามีคุณภาพลดลง และเสียงก็จะเบาลงตามไปด้วย

การต่อลำโพง 2 คู่ 4 โอห์ม แบบอนุกรม

การต่อลำโพงแบบขนาน (Parallel)


การต่อลำโพงแบบขนาน (Parallel) เป็นวิธีตรงข้ามกับการต่อแบบอนุกรม หลักการต่อคือเอาขั้วบวก (+) ต่อเข้ากับขั้วบวก (+) ขั้วลบ (-) ต่อเข้ากับขั้วลบ (-) โดยการต่อลำโพงแบบนี้มีผลทำให้ค่าความต้านทานรวมลดลง


การคำนวณค่าความต้านทานรวมจะซับซ้อนกว่าการต่อแบบอนุกรมเล็กน้อย แต่กรณีที่ลำโพงทุกดอกมีค่าโอห์มเท่ากันก็สามารถนำค่าความต้านทานของลำโพงมาหารจำนวนของดอกลำโพงได้เลย ตัวอย่างเช่น ต่อลำโพง 2 คู่ 4 โอห์ม มีดอกลำโพงทั้งหมด 4 ดอก ทุกดอกมีค่าความต้านทาน 4 โอห์มเท่ากัน ค่าความต้านทานรวมของระบบก็คือ 4 ÷ 4 = 1 โอห์ม


การต่อลำโพงแบบขนานเป็นการต่อลำโพงที่ง่ายแต่ก็มีวิธีการคำนวณหาค่าความต้านทานรวมยากกว่าการต่อแบบอนุกรมถ้าหากลำโพงในระบบแต่ละตัวมีค่าโอห์มไม่เท่ากัน อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดขอการต่อลำโพงแบบขนานคือยิ่งต่อลำโพงจำนวนมากขึ้นเท่าไร ค่าความต้านทานรวมก็จะยิ่งต่ำลงไปเรื่อยๆ ส่งผลให้แอมป์ต้องรับภาระหนักมากขึ้น เกิดความร้อนสะสมมากขึ้น ถ้ายังฝืนใช้ต่อไปอาจเกิดความเสียหาย แอมป์ไหม้ได้

การต่อลำโพง 2 คู่ 4 โอห์ม แบบขนาน

การต่อลำโพงแบบผสม (Series-Parallel)


การต่อลำโพงแบบผสมเป็นวีธีที่ซับซ้อนแต่ให้ผลลัพธ์ดี เป็นการต่อลำโพงที่ใช้ทั้งการต่อแบบอนุกรมและแบบขนานรวมกัน ให้คุณภาพเสียงที่ดี สามารถควบคุมความต้านทานรวมให้เหมาะสมกับแอมป์แต่ละตัวได้ ทำให้แอมป์ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ เสียงที่ได้ก็ออกมาเต็ม คมชัด ไม่เกิดการสูญเสียสัญญาณเสียงในระบบ


การคำนวณหาค่าความต้านทานรวมของการต่อลำโพงแบบผสมจะใช้วิธีคิดคำนวณทีละส่วนคือ คำนวณส่วนที่ต่อกันแบบอนุกรม และคำนวณส่วนที่ต่อกันแบบขนาน แล้วจึงนำส่วนดังกล่าวมาต่ออนุกรมหรือขนานกันอีกทีแล้วแต่ความต้องการ ตัวอย่างเช่น ต่อลำโพง 2 คู่ 4 โอห์ม มีดอกลำโพงทั้งหมด 4 ดอก ทุกดอกมีค่าความต้านทาน 4 โอห์มเท่ากัน เราสามารถแบ่งการต่อเป็นคู่ คู่แรกต่อกันแบบขนานก็จะได้ค่าความต้านทาน 2 โอห์ม คู่สองต่อกันแบบขนานก็จะได้ค่าความต้านทาน 2 โอห์ม จากนั้นนำลำโพงทั้งสองคู่มาต่ออนุกรมกัน ค่าความต้านทานรวมของทั้งระบบก็จะอยู่ที่ 4 โอห์ม

 

การต่อลำโพงแบบผสมมีสูตรการต่อที่หลากหลายขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของอุปกรณ์ กำลังขับของแอมป์ ค่าความต้านทานที่แอมป์รับไหว รวมถึงจำนวนลำโพงในระบบ ซึ่งการต่อแบบนี้ต้องอาศัยการทำความเข้าใจอย่างละเอียดเพื่อให้ลำโพงทำงานได้เต็มประสิทธิภาพที่สูงสุด 

การต่อลำโพง 2 คู่ 4 โอห์ม แบบผสม

ทั้งหมดนี้ก็คือวิธีการต่อลำโพงแบบต่างๆ ที่ใช้กันในปัจจุบัน แต่ละวิธีมีข้อดีข้อเสียต่างกันไป สิ่งสำคัญคือควรเลือกใช้วิธีการต่อลำโพงให้เหมาะกับอุปกรณ์ อันดับแรกต้องวางแผนก่อนว่าจะต่อลำโพงกี่ตัว แต่ละตัวมีค่าโอห์มเท่าไร และจะต่ออย่างไร ซึ่งระบบการต่อลำโพงที่นิยมทำกันก็จะมี ต่อลำโพง 2 คู่ 4 โอห์ม, ต่อ 2 คู่ 8 โอห์ม ต่อ 3 คู่ 8 โอห์ม เป็นต้น เมื่อเลือกระบบการต่อลำโพงได้แล้วก็ดูว่าแอมป์ที่มีรองรับค่าความต้านทานได้ที่เท่าไร แล้วจึงเลือกวิธีการต่อลำโพงให้เหมาะสมกับแอมป์ หรือถ้ายังไม่มีแอมป์ก็ลองคำนวณค่าความต้านรวมของระบบแล้วนำไปเป็นหลักเกณฑ์ในการเลือกซื้อแอมป์ที่เหมาะสมมาใช้กับระบบลำโพงของเราได้


อย่างไรก็ตาม ข้อควรระวังในการต่อลำโพงคือเรื่องของขั้วลำโพง หากต่อลำโพงรวมกันหลายตัวต้องดูขั้วให้ดี อย่าต่อผิดขั้วเพราะจะทำให้เสียงที่ออกมาเบาลง และหากต่อพ่วงลำโพงจำนวนมากแล้วได้ค่าความต้านทานรวมต่ำเกินไปก็อาจจะสร้างความเสียหายต่อเพาเวอร์แอมป์ได้

ต่อลำโพง 2 คู่ 4 โอม คืออะไร? มารู้จักวิธีการต่อลำโพงแบบต่างๆ กัน

Mercular.com หวังว่าบทความนี้จะเป็นแนวทางให้กับผู้ที่ยังงงกับการต่อลำโพงได้เข้าใจหลักการที่ถูกต้อง ซึ่งจริงๆ แล้วถ้าศึกษาดีๆ ก็จะเข้าใจได้ไม่ยาก และเมื่อต่อลำโพงได้ถูกต้องก็จะช่วยให้ลำโพงทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ ให้เสียงที่ดี สำหรับบทความ “ต่อลำโพง 2 คู่ 4 โอม คืออะไร? มารู้จักวิธีการต่อลำโพงแบบต่างๆ กัน” ก็ต้องจบลงเพียงเท่านี้ คราวหน้าจะมีบทความ Tips & Trick ดีๆ อะไรมาแนะนำอีก รอติดตามกันได้ครับ วันนี้ทางเราก็ต้องขอตัวลาไปก่อน สวัสดีครับ

article-banner-1
article-banner-2