เบิร์นลำโพง หูฟังให้ดี...ทำยังไง?

23 ก.พ. 2560

เบิร์นลำโพง หูฟังให้ดี...ทำยังไง?

เคยได้ยินร้านขายเครื่องเสียงพูดถึงการเบิร์นกันบ้างไหมครับ? สำหรับคนที่เล่นเครื่องเสียง คงจะเป็นคำศัพท์ปกติที่ได้ยิน แล้วพูดถึงกันบ่อยๆ แต่สำหรับคนทั่วไปอย่างเราๆ คำนี้ถือเป็นสิ่งใหม่เลยก็ว่าได้ ซึ่งการเบิร์นลำโพงนี้ ไม่ใช่การนำลำโพงมา “เผา” แต่อย่างใด เพียงแต่เป็นการอุ่นเครื่องให้กับลำโพงใหม่ๆที่พึ่งจะส่งตรงจากโรงงานมาถึงมือเรานั่นเอง หลายๆคนตั้งคำถามว่า “จะเบิร์นลำโพงไปทำไม ในเมื่อเดี๋ยวใช้งานก็ดีขึ้นเอง” “แล้วการเบิร์นลำโพงทำให้เสียงดีขึ้นจริงหรือ” วันนี้ทาง Mercular.com จึงถือโอกาสแนะนำวิธีการเบิร์นลำโพงให้ได้รู้จักและทำอย่างถูกวิธีกันครับ

speaker burn in เบิร์นลำโพง

การเบิร์น คืออะไร?

การเบิร์นลำโพง, หูฟัง หรือ ที่เรียกเต็มๆว่า การ Burn-In (บางที่ใช้คำว่า Break-In) หมายถึง การเปิดลำโพงเล่นเพลงต่อเนื่องในช่วงระยะเวลาและระดับความดังที่เหมาะสมเพื่อให้ดอกลำโพง แผ่นไดอะเฟรม รวมถึงสายสัญญาณที่พึ่งออกจากโรงงานมาใหม่ๆ ได้ขยายตัวให้เข้าที่เข้าทาง ส่งผลให้คุณภาพเสียงดีขึ้น ได้มาตรฐานตามที่วางไว้ อย่างที่เกริ่นไว้ช่วงแรกว่าหลายๆคนอาจจะคิดว่าเปิดใช้งานไปเรื่อยๆเดี๋ยวก็ดีขึ้นเอง ต้องบอกเลยว่า การเบิร์นที่ถูกต้องนั้น ต้องใช้ชนิดเพลงและไฟล์เพลงสำหรับการ Burn-In จริงๆ ซึ่งจะทำให้ได้ผลลัพธ์ทั้งย่านเสียงกลาง เสียงสูง และเสียงเบสที่ดีเอามากๆ โดยหลังจากเบิร์นจนได้ที่แล้วเราก็เปิดลำโพงฟังเพลงปกติ นั่นแหละครับ


Burn-In ยังไงให้เสียงดี?


สำหรับวิธีการเบิร์นลำโพง คนในวงการหลายๆคนเองก็มีวิธีที่แตกต่างกันออกไปแล้วแต่สำนัก ทางเราจึงขออนุญาตแนะนำพื้นฐานก่อนสำหรับมือใหม่ ซึ่งนอกจากชนิดของลำโพงแล้ว สิ่งที่ต้องคำนึงหลักๆ มีดังนี้ครับ

speaker burn in เบิร์นลำโพงดีอย่างไร

1. เพลงที่ใช้เบิร์น


สำหรับเพลงที่ใช้ Burn-In นั้น อย่างน้อยควรจะต้องเป็นไฟล์เพลงที่มีคุณภาพชัดระดับ Lossless ขึ้นไป ครับ เพราะจะทำให้ย่านเสียงต่างๆออกครบ ถ้วนชัดเจน ทั้งเสียงสูง เสียงกลาง และเสียงเบส เป็นการดึงศักยภาพของวัสดุอย่างดอกลำโพง ไดอะเฟรม หรือสายสัญญาณ ออกมาเต็มที่นั่นเอง ช่วงเริ่มต้นแนะนำให้ใช้เพลงสำหรับ Burn-In จากแผ่นอย่างน้อย CD/DVD ก่อนครับ เพราะจะให้ความถี่เสียงที่ครอบคลุมตั้งแต่ 20-20,000 Hz


2. ระดับเสียงเพลง


ในช่วงแรกของการเบิร์นนั้น ไม่ควรเปิดเสียงดังมากเพราะจะทำให้ดอกลำโพงเกิดความเสียหายได้ เนื่องจากลำโพงพึ่งออกจากโรงงานมาใหม่ๆ ดอกลำโพง และไดอะเฟรมจะยังคงแข็งกระด้าง หากเปิดเสียงดังมาก แรงปะทะอาจจะทำให้ดอกลำโพงขาดก็เป็นได้ ดังนั้นจึงควรเปิดเพลงเบิร์นในระดับความดังที่ฟังปกติหรือดังกว่าที่เราฟังปกติเล็กน้อยก่อน จากนั้นค่อยไล่ระดับสูงขึ้นตามความเหมาะสม ครับ


3. ระยะเวลาการเบิร์น


เบิร์นแค่ไหนถึงจะพอ? โดยทั่วไปแล้วลำโพงแต่ละชนิด แต่ละขนาด จะมีระยะเวลาการเบิร์นที่แตกต่างกัน ซึ่งเฉลี่ยแล้วจะอยู่ประมาณ 100-200 ชั่วโมง ถ้าเป็นดอกเล็ก แต่ถ้าใหญ่มากก็อาจจะลากยาวถึงเกือบๆ 700-800 ชั่วโมง โดยยิ่งดอกลำโพงใหญ่ ก็จะเห็นการเปลี่ยนแปลงหลังการเบิร์นมากยิ่งขึ้นครับ บางครั้งการเบิร์นก็ไม่ได้เห็นผลชัดเจน 100% เสมอไป ขึ้นอยู่กับลำโพงล้วนๆครับ แต่บอกได้เลยว่า การเบิร์นมีผลต่อคุณภาพเสียงลำโพง อย่างน้อยๆก็ประมาณ 20-30% อย่างแน่นอน

speaker burn in วิธีเบิร์นลำโพง

ถึงเวลาเบิร์นจริง!


ทีนี้เมื่อเราเข้าใจพื้นฐานคร่าวๆแล้วก็ถึงเวลาเบิร์นกันจริงๆแล้วละครับ ซึ่งสูตรของมือโปรฯแต่ละคนก็แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับความชำนาญและประสบการณ์ซะส่วนใหญ่ แต่เบื้องต้นทางเราได้ทำการศึกษาหาข้อมูลและทดลองเบิร์นกันจริงๆแล้ว โดยเริ่มแรก ให้เปิดลำโพงเล่นไฟล์เพลงสำหรับ Burn-In ก่อน เพื่อให้ลำโพงได้คุ้นเคยกับเสียงในทุกย่าน ซักประมาณ 2-4 ชั่วโมงแรก ในระดับเสียงเพลงที่สูงกว่าระดับเสียงที่เราฟังปกติเล็กน้อยครับ (ระวังเสียงดังจนรบกวนผู้อื่นด้วยนะครับ)


หลังจากพ้นระยะแรกไป ทีนี้เราก็เปิดเพลงปกติที่เราฟังไปเรื่อยๆ จนครบ 100-200 ชั่วโมงครับ ข้อควรระวังตรงจุดนี้คือไม่ควรเปิดลำโพงเบิร์นเป็นระยะเวลานานเกินไป ควรมีจังหวะให้ลำโพงได้พักบ้าง โดยอาจจะเปิด 4 ชั่วโมง แล้วพัก 2 ชั่วโมง แล้วเปิดใหม่เป็นต้นครับ เพราะถ้าเราเบิร์นจนลำโพงมีความร้อนสูง อาจจะทำให้เกิดผลเสียต่อดอกลำโพงรวมถึงวงจรไฟฟ้าได้ครับ แนะนำว่าให้ใจเย็นๆ ค่อยๆเบิร์นไม่ต้องรีบครับ อาจจะใช้เวลาสักพักหนึ่งแต่รับรองว่าเสียงที่ได้ออกมาดีแน่นอน


ท้ายที่สุดอย่างที่เรียนให้ทราบข้างต้นว่า “วิธีการเบิร์นลำโพง” มีหลากหลายรูปแบบ ดังนี้ความถูกต้องข้อเนื้อหาจึงค่อนข้างหลากหลาย หากท่านผู้อ่านท่านใดมีข้อเสนอแนะหรือคำติชมใดๆ สามารถแจ้งเข้ามาที่ทาง Facebook: Mercular.com ได้เลยครับ ทางเรายินดีรับฟังเสมอเพื่อปรับปรุงและแบ่งปันเนื้อหาให้ดียิ่งขึ้นครับ สำหรับใครที่อยากรู้ว่า เพลงเบิร์นหูฟัง ลำโพง มีอะไรบ้างกดที่นี่เลยครับ ว่าแต่หากใครกำลังมองหาลำโพงบ้าน ลำโพงคอมพิวเตอร์ หรือลำโพงชนิดต่างๆอยู่ สามารถมองหาเลือกช้อปได้ที่นี่เลยครับ


article-banner-1
article-banner-2