ไขข้อข้องใจ USB Type-C มีกี่แบบ ใช้ทำอะไรบ้าง

20 พ.ค. 2566

ไขข้อข้องใจ USB Type-C มีกี่แบบ ใช้ทำอะไรบ้าง

USB Type-C เป็นพอร์ตเชื่อมต่อข้อมูลที่ถูกใช้งานอย่างแพร่หลายทั้งในสมาร์ตโฟน แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ โน๊ตบุ๊ก รวมถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อีกหลายอย่าง หลายคนอาจจะเคยเห็นว่าเวลาผู้ผลิตระบุสเปกของพอร์ต USB Type-C มักจะมีตัวเลขหรือข้อความห้อยต่อท้าย เมื่อดูที่ช่องเชื่อมต่อก็มักจะมีสัญลักษณ์กำกับหลายแบบให้ชวนสงสัย บทความนี้ Mercular จะมาไขข้อข้องใจว่า USB Type-C มีกี่แบบกันแน่ ตัวเลขหรือข้อความต่อท้ายทั้งหลายมันหมายความว่าอะไร แต่ละแบบใช้ทำอะไรบ้าง อ่านจบแล้วหายสงสัยแน่นอนครับ

USB Type C คืออะไร


USB Type-C เป็นชื่อเรียกหัวเชื่อมต่อ USB รูปแบบหนึ่งที่ถูกออกแบบมาให้ใช้งานสะดวกและง่ายกว่าหัวเชื่อมต่อ USB แบบ Type-A หรือ Type-B โดยตัวอักษร C หมายถึงลักษณะทางกายภาพของหัวเชื่อมต่อชนิดนี้ที่มีรูปทรงแบนยาวที่มุมสองข้างซ้าย-ขวาโค้งเข้าหากัน จุดเด่นสำคัญคือสามารถเสียบใช้งานด้านใดก็ได้ ไม่มีปัญหาเรื่องเสียบผิดด้านที่มักพบเจอบ่อย ๆ ใน USB Type-A และ Type-B นอกจากนี้ยังมีอัตราการส่งข้อมูลที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับ USB รุ่นก่อนหน้า


ข้อดีของ USB Type C


  • มีขนาดเล็กและแบน ใช้พื้นที่น้อยกว่า USB Type-A และ Type-B ทำให้สามารถออกแบบให้อุปกรณ์ให้มีความบางได้มากกว่า
  • สามารถสลับเสียบด้านใดก็ได้ ไม่มีปัญหาเสียบผิดด้าน ใช้งานสะดวกและยืดหยุ่นกว่า
  • รองรับโปรโตคอลได้หลากหลายรูปแบบ เช่น ถ่ายโอนข้อมูล ส่งสัญญาณภาพและเสียง จ่ายกระแสไฟฟ้า เป็นต้น
  • มีอัตราการส่งข้อมูลที่สูงกว่า USB Type-A และ Type-B

USB Type C กับตัวเลขเวอร์ชันต่าง ๆ

ปกติแล้วผู้ผลิตอุปกรณ์มักจะระบุตัวเลขเวอร์ชันของพอร์ต USB แต่ละพอร์ตเอาไว้ชัดเจน เช่น USB 2.0, 3.0, 3.1, 3.2 ตัวเลขเหล่านี้หมายถึงมาตรฐานความเร็วในการรับ-ส่งข้อมูลซึ่งถูกกำหนดโดย USB Implementers Forum หน่วยงานกำกับดูแลและพัฒนาพัฒนาข้อกำหนดต่าง ๆ ของเทคโนโลยี USB สำหรับ USB Type-C นั้นเริ่มมีมาตั้งแต่เวอร์ชัน 2.0 แล้ว แต่เริ่มเป็นที่นิยมในเวอร์ชัน 3.0 เป็นต้นมา ปัจจุบันเป็นยุคของเวอร์ชัน 3.2 ซึ่งมีการแบ่งย่อยลงไปอีก รายละเอียดดังนี้

เวอร์ชัน

ชื่ออย่างเป็นทางการ

ชื่อเก่า / ชื่อย่อ

ความเร็ว

USB Type C 3.2 Gen 1x1 

SuperSpeed USB 5Gbps

USB 3.0, USB 3.1 Gen 1

5 Gbps

USB Type C 3.2 Gen 2x1

SuperSpeed USB 10Gbps

USB 3.1, USB 3.1 Gen 2

10 Gbps

USB Type C 3.2 Gen 1x2

-

USB 3.2

10 Gbps

USB Type C 3.2 Gen 2x2

SuperSpeed USB 20Gbps

USB 3.2

20 Gbps

เมื่อดูสเปกของอุปกรณ์ ส่วนใหญ่แล้วผู้ผลิตมักจะระบุชื่อย่อของพอร์ต USB Type-C มากกว่าจะระบุชื่อเวอร์ชันจริง ๆ เพื่อความสั้นกระชับและง่ายต่อการจดจำ ดังนั้นหากเจอชื่อย่อหรือชื่อเวอร์ชันแบบไหนก็สามารถใช้ตารางนี้อ้างอิงได้ครับ 


อีกหนึ่งวิธีที่จะดูว่าพอร์ต USB Type-C เป็นเวอร์ชันอะไรคือดูโลโก้ที่กล่องบรรจุภัณฑ์ ที่บริเวณหัวต่อ หรือสายสัญญาณ ซึ่งจะมีสัญลักษณ์และข้อความระบุเวอร์ชันไว้ชัดเจน ดังนี้

รูปภาพ: addin.co.th

หลังจากนี้จะเริ่มเข้าสู่ยุค USB 4 ซึ่งความนิยมของ USB Type-A และ Type-B จะเริ่มลดลง ส่วน USB Type-C จะถูกใช้งานแพร่หลายมากขึ้นซึ่งมันจะมาพร้อมกับความเร็วในการรับ-ส่งข้อมูลที่สูงถึง 20 - 80 Gbps เลยทีเดียว

USB Type-C มีกี่แบบ


รู้จักตัวเลขเวอร์ชันและข้อความต่อท้ายพอร์ต USB Type-C รูปแบบต่าง ๆ กันไปแล้ว เรามาดูกันว่าพอร์ต USB Type-C ในปัจจุบันมีกี่แบบและใช้ทำอะไรกันบ้าง


USB Type-C ทั่วไป


USB Type-C ทั่วไปเป็นพอร์ตพื้นฐานที่มีคุณสมบัติหลักคือรับ-ส่งข้อมูล ขณะเดียวกันก็ยังรองรับการจ่ายกระแสไฟฟ้าที่กำลังวัตต์ไม่สูงมากได้ นิยมใช้ในสมาร์ตโฟน แท็บเล็ต โน๊ตบุ๊ก และคอมพิวเตอร์ โดยซึ่งความเร็วการรับ-ส่งข้อมูลจะขึ้นอยู่กับเวอร์ชันที่ผู้ผลิตจะเลือกใช้ เช่น สายชาร์จ Type C


USB Type-C PD 


USB Type-C PD ย่อมาจาก Power Delivery คุณสมบัติพื้นฐานคือรับ-ส่งข้อมูลเหมือนกับ USB Type-C ทั่วไป แตกต่างกันที่ความสามารถในการจ่ายไฟที่สูงกว่า โดยจุดสังเกตของพอร์ตชนิดนี้คือจะมีตัวอักษร PD หรือสัญลักษณ์รูปถ่าน/ปลั๊กไฟระบุไว้ชัดเจน ปัจจุบัน USB Type-C PD พัฒนามาถึงเวอร์ชัน 3.1 แล้ว รองรับแรงดันไฟฟ้าได้สูงสุดถึง 48V รองรับกระแสไฟฟ้า 5A และรองรับกำลังไฟฟ้าสูงสุด 240W พอร์ตชนิดนี้นิยมใช้กับโน๊ตบุ๊กรุ่นใหม่ ๆ ที่ต้องการความเร็วในการชาร์จแบตเตอรี่ และเมื่อมีพอร์ตชนิดนี้ก็ไม่จำเป็นต้องมีช่องชาร์จไฟปกติก็ได้


USB Type-C DP


USB Type-C DP ย่อมาจาก Display Port คุณสมบัติพื้นฐานคือรับ-ส่งข้อมูลเหมือนกับ USB Type-C ทั่วไปแต่เพิ่มเติมในส่วนของการรองรับสัญญาณภาพสำหรับเอาไว้ต่อกับจอภาพที่รองรับ ลดความยุ่งยากในการเชื่อมต่อและไม่ต้องพกสาย HDMI อีกเส้น จุดสังเกตคือจะมีสัญลักษณ์รูปตัว D หรือสัญลักษณ์รูปหน้าจอคอมคอมพิวเตอร์ระบุให้เห็น ปัจจุบันพอร์ต USB Type-C DP ยังได้รับความนิยมน้อยอยู่ ส่วนใหญ่จะพบอยู่ในโน๊ตบุ๊กทำงานรุ่นสูงที่มีราคาแพง และยังมีข้อจำกัดด้านแบนด์วิธข้อมูลทำให้รองรับสัญญาณภาพได้สูงไม่เท่าพอร์ต HDMI แต่ในอุปกรณ์บางรุ่นที่ราคาสูงมาก ๆ พอร์ตชนิดนี้จะรองรับการชาร์จไฟได้ด้วย


Thunderbolt


Thunderbolt คือเทคโนโลยีการเชื่อมต่อสายเคเบิลความเร็วสูงที่รวมความสามารถของพอร์ต USB Type-C ทั้งสามอย่างข้างบนเข้าด้วยกัน หน้าตาของพอร์ตจะเหมือนกับ USB Type-C โดยจะมีสัญลักษณ์รูปสายฟ้าระบุไว้ให้เห็น ปัจจุบันพัฒนามาถึงเจเนอเรชันที่ 4 แล้ว รองรับการโอนถ่ายข้อมูลความเร็วสูง 40Gbps รองรับสัญญาณภาพ 4K 60fps รองรับการเชื่อมต่อกับเครือข่าย 10 Gigabit Ethernet รวมถึงรองรับการชาร์จไฟสูงสุด 100W ด้วยความสามารถแบบ All-in-one ปัจจุบันพอร์ตชนิดนี้กำลังได้รับความนิยมในอุปกรณ์รุ่นใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์, โน๊ตบุ๊ก, จอคอม, อุปกรณ์บันทึกข้อมูลแบบพกพา ฯลฯ เรียกได้ว่า Thunderbolt เป็นพอร์ตเชื่อมต่อแห่งอนาคตที่จะเข้ามาช่วยเพิ่มความสะดวกในการเชื่อมต่ออุปกรณ์ได้ดีที่สุด ลดจำนวนและความยุ่งยากต่อสายสัญญาณระหว่างอุปกรณ์

รูปภาพ: en.wikipedia.org

มาถึงตรงนี้ Mercular เชื่อว่าคำถามUSB Type-C มีกี่แบบ” ที่หลาย ๆ คนสงสัยน่าจะถูกไขความกระจ่างออกมาบ้างแล้วไม่มากก็น้อย ซึ่งพอร์ตแต่ละแบบจะเหมาะกับการใช้งานต่างกันไป ซึ่งทุกพอร์ตล้วนถูกพัมนาขึ้นเพื่อเพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้ใช้งาน ลดความหลากหลายและจำนวนของสายสัญญาณ ซึ่งจะเป็นการลดความสับสนและความยุ่งยากในการเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่าง ๆ เข้าด้วยกัน 


USB Type-C จะกลายมาเป็นพอร์ตเชื่อมต่อหลักในอีกไม่ช้า และจะถูกพัฒนาต่อเนื่องไปอีกหลายเวอร์ชันในอนาคต ตอนนี้อุปกรณ์รุ่นใหม่ ๆ ต่างก็มีพอร์ต USB Type-C มาเป็นมาตรฐานกันแล้ว ผู้บริโภคอย่างเรา ๆ ก็จำเป็นต้องปรับตัวตามให้ทัน สุดท้ายนี้ Mercular ต้องขอตัวลาไปก่อน ติดตามบทความ Buying Guide ดี ๆ แบบนี้ได้ที่เว็บไซต์ของเรา สำหรับวันนี้ สวัสดีครับ

best-seller-ads
article-banner-1
article-banner-2