ทำความรู้จัก URL คืออะไร มีส่วนประกอบอะไรบ้าง?
16 ก.พ. 2566
คนใช้งานอินเทอร์เน็ตเป็นประจำน่าจะเคยเห็นหรือเคยได้ยินคำว่า URL ผ่านตากันมาบ้าง เวลาจะเข้าเว็บไซต์อะไรก็ต้องพิมพ์ URL ในเว็บเบราเซอร์ทุกครั้ง แล้วเคยสงสัยกันมั้ยว่า URL คืออะไร มีส่วนประกอบอะไรบ้าง มีหน้าที่อย่างไร ทำอะไรได้บ้าง บทความนี้ Mercular.com อยากชวนทุกคนมารู้จักตัวอักษรอังกฤษสั้น 3 ตัวนี้ให้มากขึ้นกัน
URL คืออะไร?
URL เป็นตัวอักษรย่อของข้อความภาษาอังกฤษ Uniform Resource Locator มีชื่อภาษาไทยยาว ๆ ว่า “ตัวชี้แหล่งในอินเทอร์เน็ต” มันคือตัวระบุที่อยู่ของข้อมูลต่าง ๆ บนอินเทอร์เน็ตที่ช่วยพาให้เราเข้าถึงไฟล์หรือหน้าเว็บเพจต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง เปรียบเสมือน “บ้านเลขที่" สำหรับบอกที่อยู่ของหน้าเว็บไซต์นั้น ๆ หรือพูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือที่อยู่ของเว็บไซต์นั่นเอง
ใครสร้าง URL
URL ถูกสร้างขึ้นในปี 1994 โดย Tim Berners-Lee นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ชาวอังกฤษผู้คิดค้น World Wide Web (www.) คนแรกของโลก โดยเป็นการรวมเอาระบบที่มีอยู่แล้วอย่างชื่อโดเมน (domain name) เข้ากับที่เส้นทางอยู่ของไฟล์ (file path) แล้วใช้เครื่องหมายทับ (/) เพื่อแยกไดเร็กทอรีและชื่อไฟล์ ตามหลังชื่อเซิร์ฟเวอร์เส้นทางไฟล์หรือโปรโตคอลที่คั่นด้วยเครื่องหมายทับคู่ (//) URL มีการปรับปรุงรูปแบบและการเรียงลำดับชื่อหลายครั้งจนในที่สุดก็ได้รูปแบบสากลที่เราทุกคนใช้กันในปัจจุบันคือ https://www.mercular.com
URL มีส่วนประกอบอะไรบ้าง
URL ประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก ได้แก่ Protocol Identifier (Scheme) และ Resource Name (Authority)
Protocol Identifier (Scheme)
Protocol Identifier หรือ Scheme คือส่วนต้นของ URL เป็นส่วนที่ระบุโปรโตคอลที่ใช้ในการเข้าถึงเว็บไซต์นั้น ๆ โดยมีเซิร์ฟเวอร์เป็นตัวกลางรองรับข้อมูลในอินเทอร์เน็ตทำให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ผ่านชื่อโดเมนได้ โดยโปรโตคอลที่นิยมใช้ในปัจจุบันได้แก่ http และ https เป็นต้น
Resource Name (Authority)
Resource Name หรือ Authority คือเป็นส่วนท้ายของ URL ที่อยู่หลังเครื่องหมาย :// แบ่งองค์ประกอบย่อยภายในได้อีกหลายส่วนแล้วแต่โครงสร้างเว็บไซต์และหน้าเว็บเพจ ดังนี้
ชื่อโดเมน (Domain Name System - DNS)
ชื่อโดเมน หรือ DNS หรือบางคนเรียก ชื่อโฮสต์ (Host Name) เป็นองค์ประกอบสำคัญของ URL ที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงเว็บไซต์ที่ต้องการได้อย่างถูกต้อง ชื่อโดเมนของแต่ละเว็บไซต์จะแตกต่างกันไปตามที่ผู้พัฒนาเว็บกำหนดแต่ส่วนท้ายของชื่อจะมีการกำกับตามประเภทของเว็บไซต์นั้น ๆ เช่น
- .com (บริษัท/องค์กร)
- .co.th (บริษัทที่ทำการค้าในประเทศไทย)
- .org (องค์กรไม่แสวงผลกำไร)
- .ac.th (สถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย)
- .net (เครือข่าย)
นอกจากนี้ ชื่อโดเมนอาจมีโดเมนย่อย (Subdomain) เอาไว้ที่นำทางไปยังหน้าต่าง ๆ ของเว็บไซต์ตามที่ผู้พัฒนาได้แบ่งหมวดหมู่เอาไว้เพื่อความเป็นระเบียบ โดยจะอยู่ด้านหน้าของชื่อโดเมนหลักและคั่นด้วยจุด (.) เสมอ ตัวอย่างเช่น https://news.kapook.com
Path
Path คือเส้นทางที่นำไปสู่ไฟล์หรือตำแหน่งต่าง ๆ ของข้อมูลบนเว็บไซต์ โดย Path จะอยู่ด้านหลังของชื่อโดเมนเสมอและคั่นเครื่องด้วยหมายทับ (/) ตัวอย่างเช่น https://www.mercular.com/audio/headphone
ส่วนท้ายของ Path อาจจะไม่มีหรือบางหน้าเว็บเพจอาจจะปิดท้ายด้วยนามสกุล .php หรือ .html ซึ่งเป็นการระบุภาษาที่ใช้เขียนหน้าเว็บนั้น ๆ นั่นเอง
Query String
Query String คือการค่าหรือตัวแปรเพิ่มเติมเพื่อการเข้าถึงข้อมูลที่ลึกหรือเฉพาะมากขึ้นบนเว็บไซต์ เปรียบเสมือนเป็นการกรองข้อมูลให้แยกย่อยลงไปอีกตามที่ผู้ใช้ต้องการ มักปรากฎเครื่องหมาย “?” ตามด้วยค่าพารามิเตอร์เช่นสีหรือขนาดของสินค้าบางอย่าง ซึ่งหากมีพารามิเตอร์มากกว่า 1 ค่า URL จะแสดงค่าเป็นคู่โดยใช้เครื่องหมาย "&" คั่นระหว่างค่า และแบ่งคู่ด้วยเครื่องหมาย "="
ตัวอย่าง https://www.mercular.com/jbl-go-3-bluetooth-speaker?sku=1095172000005
Anchor (Fragment)
ส่วนของ URL ที่ระบุจุดที่ปักหมุดเอาไว้ภายในหน้าเว็บไซต์ ขึ้นต้นด้วย "#" เสมอ โดยบนวิดีโอก็จะกระโดดไปยัง "วินาที" ที่มาร์คจุดเอาไว้ ส่วนในหน้าเว็บไซต์ก็จะข้ามไปที่ "หัวข้อ" ที่ผู้ใช้ต้องการ
ตัวอย่าง https://www.mercular.com/jbl-go-3-bluetooth-speaker#product-spec
รูปภาพจาก: www.hostinger.com
URL ใช้ทำอะไร
หน้าที่หลักของ URL คือการระบุที่อยู่เว็บไซต์ โดยปกติแล้วเวลาจะเข้าชมเว็บไซต์ใดก็ต้องพิมพ์ URL ในแถบ address bar ของเว็บเบราว์เซอร์เพื่อเรียกข้อมูลจากเว็บไซต์ให้แสดงขึ้นมา หากไม่มี URL ก็จะไม่สามารถเข้าดูเว็บไซต์นั้นได้ อย่างไรก็ตาม URL ยังไม่ได้ใช้เพื่อการเข้าถึงเว็บไซต์เพียงอย่างเดียวเท่านั้นแต่ยังถูกใช้เพื่อเข้าถึงหรือระบุที่อยู่ของข้อมูลอื่น ๆ ได้อีกด้วย เช่น ใช้เป็นคำสั่งสำหรับการส่งอีเมล ใช้เป็นคำสั่งสำหรับการโทรออก และใช้เป็นคำสั่งสำหรับการเปิดไฟล์บนอินเทอร์เน็ต เป็นต้น
นอกจากนี้ URL มีความสำคัญในแง่ SEO อย่างมาก อย่างแรกคือถ้า URL มีการระบุรายละเอียดเบื้องต้นของหน้าเว็บเพจนั้น ๆ ได้ชัดเจนก็จะช่วยให้อัลกอริทึมของ search engine เข้าใจได้ง่ายว่าหน้าเว็บไซต์นั้นเป็นเว็บไซต์เกี่ยวกับอะไร ทำธุรกิจอะไร เนื้อหาและคอนเทนต์ในหน้าเว็บเพจนั้นเกี่ยวข้องกับอะไร และมองโดยรวมว่าเว็บไซต์นั้นเป็นเว็บไซต์ที่มีคุณภาพดี ต่อมาคือการทำ SEO ให้ได้ผลนั้นจำเป็นต้องต้องมีคีย์เวิร์ดสอดแทรกอยู่ใน URL หากคีย์เวิร์ดที่ใช้มียอด Search Volume สูงก็จะยิ่งส่งผลถึง traffic เข้าเว็บที่สูงขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้เว็บไซต์มีคะแนนสูงและอยู่ในอันดับที่ดีบนหน้า SERP สุดท้ายคือถ้าตั้งชื่อ URL ได้ถูกหลัก SEO เช่น ตั้งเป็นเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมดหรือใช้คำสั้น ๆ กระชับได้ใจความ ก็จะช่วยในเรื่องประสบการณ์ผู้ใช้ ช่วยเพิ่มการจดจำและเพิ่มความง่ายในการค้นหา ทำให้คนกลับมาเยี่ยมชมเว็บไซต์ได้บ่อย ๆ นั่นเอง
ทั้งหมดนี้เรื่องราวของ URL อักษรภาษาอังกฤษ 3 ตัวสั้น ๆ แต่มีความสำคัญมากโดยเฉพาะกับการทำ SEO ให้กับเว็บไซต์ธุรกิจหรือแบรนด์สินค้าต่าง ๆ หวังว่าบทความนี้จะช่วยคลายความสงสัยที่ว่า URL คืออะไร? ลงไปได้บ้างไม่มากก็น้อย ที่จริงแล้วเรื่องราวของ URL ยังมีให้ศึกษาอีกมากและถ้าคุณต้องทำ SEO ให้กับเว็บไซต์ด้วยแล้วยิ่งต้องศึกษาลงลึกให้มากขึ้น สุดท้ายนี้ Mercular.com ก็ต้องขอตัวลาไปก่อน ติดตามบทความให้ความรู้ดี ๆ แบบนี้ได้ที่เว็บไซต์ของเรา สำหรับวันนี้ต้องไปแล้ว สวัสดีครับ