แรมคืออะไร เลือกซื้ออย่างไรให้เพียงพอ
8 มิ.ย. 2565
แรม คืออะไร รู้จักเพิ่มเติมกันสักหน่อย
แรม หรือ Ram เป็นหน่วยความจำหลักของคอมพิวเตอร์ มีหน้าที่รับชุดข้อมูลจากโปรแกรมต่างๆ เพื่อรอส่งไปประมวลผลไปยังซีพียู การทำงานของมันจะเป็นเสมือนที่พักชั่วคราว เมื่อเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์หรือโน๊ตบุ๊ค แรมจะรับข้อมูลมาจากหน่วยเก็บข้อมูลอย่าง SSD หรือ HDD มาพักไว้ที่ตัวเองเพื่อรอเวลาให้ซีพียูนำไปประมวลผลต่อ และที่ว่ามันเป็นหน่วยเก็บข้อมูลแบบชั่วคราว เพราะเมื่อปิดเครื่อง ข้อมูลในแรมจะหายไปหมด และเมื่อเปิดเครื่องใหม่อีกครั้ง แรมจะดึงข้อมูลมาพักไว้ เตรียมพร้อมให้ซีพียูนำไปใช้งานครับ
โดยแรมในปัจจุบันที่มีผู้ใช้งานจำนวนมากมีตั้งแต่ 4 GB จนถึง 32 GB เลยทีเดียว ขนาดของแรมจะเพียงพอหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับการใช้งานของแต่ละคน หากแรมมีความจุน้อยเกินไป ก็อาจทำให้ไม่สามารถใช้งานบางโปรแกรมได้ หรือหากแรมมากเกินไป พื้นที่เหลือๆ ไม่สอดคล้องกับการใช้งาน ก็ทำให้เราเสียเงินฟรีๆ ไปกับพื้นที่แรมที่ไม่จำเป็น
แรมมีอยู่แทบทุกอุปกรณ์ที่เราจับต้องกันในปัจจุบัน ทั้งคอมพิวเตอร์, โน๊ตบุ๊ค, สมาร์ตโฟน และแท็บเล็ต เป็นต้น บางเครื่องไม่สามารถเลือกความจุของแรมได้ แต่บางเครื่องอย่างคอมพิวเตอร์ โน๊ตบุ๊ค ผู้ใช้งานจำเป็นต้องทราบการใช้งานหลังของเรา เพื่อประเมินความจุแรมที่จะเพียงพอต่อการใช้งาน วันนี้หากใครกำลังมองหาแรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของโน๊ตบุ๊ต คอมพิวเตอร์อยู่ ลองเข้ามาศึกษาเพิ่มเติมอีกสักหน่อย จะได้ซื้อแรมให้ตรงกับความต้องการมากที่สุด
ซื้อแรม ต้องดูอะไรบ้าง ขนาดเท่าไหร่ถึงจะดี
การซื้อแรมนอกจากเรื่องความจุแล้ว ยังมีเรื่อง BUS และ DDR ของแรมอีกด้วย ความเชื่อที่ว่าซื้อแรมไปเยอะๆ ไว้ก่อน อาจไม่ได้ตอบโจทย์กับคนที่มีงบจำกัด แล้วขนาดไหนถึงจะพอเหมาะกับความต้องการมากที่สุด วันนี้เรามีข้อมูลมาแบ่งปันเพื่อให้การซื้อแรมของคุณง่ายยิ่งขึ้นด้วยครับ
BUS แรม สเปกสำคัญที่พลาดไม่ได้
เราขอเปรียบเทียบก่อนว่าความจุของ RAM เป็นเหมือนกระบะท้ายรถ ยิ่งความจุเยอะ ก็เก็บข้อมูลได้เยอะ นำส่งข้อมูลได้เยอะเช่นกัน ในส่วนของ BUS แรม เปรียบได้กับเลนถนนที่วิ่งไปมาระหว่าง RAM และ CPU รวมไปถึงส่วนอื่นๆ ที่รอรับคำสั่งที่ส่งเข้าไป
BUS มีหน่วยเป็น MHz ยิ่งมีเยอะ จำนวนรถที่เข้าไปได้ก็ยิ่งเยอะครับ เราจะเห็นตัวเลขที่อยู่หน้า MHz ให้เลือกมากมาย ทั้ง 66MHz, 100MHz, 133MHz, 200MHz ยิ่งสูง ก็ยิ่งดีครับ ถ้านำไปใช้งานเฉพาะทางอย่างเล่นเกม ทำงานกราฟิก ก็ยิ่งต้องการ MHz ที่สูงตาม แต่ยิ่งสูง ราคาของมันก็จะเพิ่มขึ้นด้วยครับ
DDR แรม ตอนนี้เดินทางมาถึง DDR5 แล้ว
DDR เป็นเหมือนรุ่นของแรม ตอนนี้แรม DDR4 ได้ถูกแทนที่ DDR3 เป็นที่เรียบร้อยและเป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก ยิ่งมีรุ่นที่ทันสมัย เทคโนโลยีและความเร็วในการรับส่งก็ยิ่งมากขึ้น ปัจจุบัน แรมได้เดินทางมาถึง DDR5 แล้ว และมีโน๊ตบุ๊คและคอมพิวเตอร์บางตัวที่วางขายตอนนี้ก็เลือกใช้ DDR5 ที่ทันสมัย แต่ต้องบอกก่อนว่ารุ่นของ DDR จะสอดคล้องกับรุ่นของซีพียูที่ออกแบบมาใช้งานร่วมกับเท่านั้น หากต้องการซื้อ DDR5 มาใช้งาน ก็จำเป็นต้องเปลี่ยนซีพียูรุ่นใหม่ตามไปด้วย แถมยิ่งเป็นรุ่นใหม่ ราคาตอนนี้สูงมาก ถ้าแรมตัวเก่ายังใช้ได้ดี ก็รอจนกว่า DDR5 จะเข้าที่เข้าทาง จะได้เปลี่ยนไปพร้อมกับซีพียูไปทีเดียวครับ
แรมคอมพิวเตอร์ กับแรมโน๊ตบุ๊ค ใส่แทนกันได้หรือไม่
แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นอุปกรณ์ที่คล้ายกัน แต่แรมของโน๊ตบุ๊ค และแรมของคอมพิวเตอร์มีขนาดที่แตกต่างกันอย่างมาก นั่นทำให้แรมทั้งสองชนิดนี้ใส่แทนกันไม่ได้ แรมโน๊ตบุ๊คมีขนาดเล็กกว่าเพราะเรื่องขนาดอุปกรณ์ที่ต้องกะทัดรัด พกพาสะดวก นั่นทำให้ใช้เทคโนโลยีสูงเพื่อให้คุณภาพถูกอัดอยู่ในแรมที่มีขนาดจำกัด ราคาแรมโน๊ตบุ๊คจึงสูงกว่าแรมคอมพิวเตอร์นั่นเองครับ
Single Channel หรือ Dual Channel จะดีกว่ากัน
เราจะเห็นช่องใส่แรมบนเมนบอร์ดมีมาให้หลายช่อง นั่นเพราะแรมส่วนมากจะใช้งานแบบ Dual Channel คือแรมขนาดเดียวกันแต่ใส่สองตัว เช่น หากเราต้องการแรม 16 GB แรมที่ใส่จะเป็นแรมขนาด 8 GB 2 ตัว หรือบางคนใส่ไปเลย 16 GB ตัวเดียว แบบนี้จะเรียกว่า Single Channel ซึ่งการทำงานของ Dual Channel จะมีประสิทธิภาพมากกว่า เพราะการทำงานของมันเชื่อมโยงกับซีพียู เป็นที่พักข้อมูลก่อนนำไปประมวลผล หากใช้แค่ตัวเดียว ข้อมูลจะกระจุกอยู่ที่เดียว ต่างจากแรมแบบคู่ที่กระจายการทำงานออกไปครับ
ซื้อแรมขนาดเท่าไหร่ ถึงจะเพียงพอต่อการใช้งาน
ขนาดของแรมขึ้นอยู่กับการใช้งานเลยครับ แรมจะใช้มากขึ้นเมื่อมีการเปิดหลายโปรแกรมพร้อมกัน หรือใช้โปรแกรมที่ดึงพลังจากแรมไปใช้เยอะ หากเราซื้อแรมมาพอดี เรื่องนี้ก็หายห่วงเลยครับ แต่หากซื้อแรมน้อยกว่าที่ต้องการใช้ นอกจากความช้าแล้ว บางครั้งโปรแกรมของเราอาจทำงานผิดพลาดไปด้วย นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ผู้ใช้งานจำเป็นต้องทราบเสียก่อนว่านำคอมพิวเตอร์หรือโน๊ตบุ๊คมาใช้งานอะไร ใช้ร่วมกับโปรแกรมอะไรบ้าง เพื่อจะได้ซื้อแรมที่เหมาะสมที่สุด วันนี้เราเลยขอแบ่งแรมออกมาเป็น 4 ความจุที่มีผู้ใช้งานเป็นจำนวนมากในปัจจุบันเพื่อแบ่งการใช้งานให้เห็นกันชัดๆ ครับ
4 GB : เหมาะสำหรับการใช้งานทั่วไปที่ไม่หนักหน่วงมาก เปิดเว็บ ใช้พิมพ์งาน ดูหนัง ฟังเพลง ใช้ดูเอกสารตอบอีเมลทั่วไป ขนาดความจุนี้ก็เพียงพอแล้วครับ
8 GB : หากใช้งานหนักขึ้นมาอีกหน่อย เช่นเปิดโปรแกรมหลายๆ อย่างพร้อมกัน เปิดเว็บทีละหลายๆ แท็บ หรือการใช้งานทั่วไปแต่ไม่อยากรอนาน รวมไปถึงเล่นเกมสเปกไม่สูงมาก ตัวนี้ก็เหมาะสมครับ
16 GB : ออกแบบสำหรับการใช้งานที่เฉพาะมากขึ้นอย่างการเล่นเกมที่สเปกสูงๆ ตัดต่อวิดีโอ ทำงานกราฟิก รวมไปถึงการใช้งานทั่วไปแต่อยากได้ความแรงในการทำอะไรต่างๆ ตัวนี้ก็ใช้งานได้ดีครับ
32GB : สำหรับงานที่ต้องใช้การประมวลผลระดับสูง เช่นการตัดต่อวิดีโอที่ความละเอียดสูง การเรนเดอร์ภาพของนักออกแบบ หรือเกมที่ต้องการสเปกเยอะๆ ก็ต้องใช้งานแรมขนาดนี้เลยครับ
แรม ชิ้นส่วนสำคัญที่ผู้ใช้งานไม่ควรมองข้าม
จากที่ได้ทราบกันไปแล้วว่าแรมมีความจุที่หลากหลายตามความต้องการใช้งาน ความเร็ว Bus ที่เกี่ยวข้อง มองข้ามไม่ได้ รุ่น DDR ที่ตอนนี้เดินทางมาถึง DDR5 และการใช้งานบน Single Channel แตกต่างจาก Dual Channel อย่างไร หลังจากนี้หากจะซื้อแรมสักคู่ คงเลือกได้แล้วว่าต้องซื้อตัวไหนถึงจะตรงกับความต้องการ ไม่เพียงแต่ให้คอมพิวเตอร์ทำงานได้อย่างปกติ หากซื้อแรมไม่ตรงกับการใช้งาน ก็อาจส่งผลให้คอมพิวเตอร์ทำงานช้าลง และอาจไม่สามารถเปิดบางโปรแกรมได้เลย ฉะนั้นก่อนซื้อ ควรตอบคำถามหลักๆ ของตัวเองให้ได้ว่าเราจะซื้อคอมพิวเตอร์หรือโน๊ตบุ๊คตัวนั้นมาทำอะไร จะได้เลือกแรมที่มีสเปกตรงตามต้องการครับ
หากใครกำลังมองหาแรม หรือชิ้นส่วนอื่นๆ ของคอมพิวเตอร์ ที่ Mercular เรามีสินค้าให้เลือกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นซีพียู, การ์ดจอ, แรม, พื้นที่เก็บข้อมูล, เคส, ระบบระบายความร้อนและอื่นๆ อีกเพียบ ที่เดียวครบ พร้อมได้คอมพิวเตอร์ไปใช้งานทันที คัดสรรจากแบรนด์ดัง คุณภาพเชื่อถือได้ การรับประกันหลังการขายหายห่วงครับ