Lube Switch คืออะไร? พร้อมวิธี Lube Keyboard ให้พิมพ์ลื่นและเงียบ
3 ส.ค. 2565
แมคคานิคอลคีย์บอร์ดเป็นสินค้าที่ตอนนี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ผู้ใช้งานสามารถเลือกขนาดคีย์บอร์ด มีสวิตซ์ให้เลือกมากมายเพื่อให้พิมพ์งานได้เข้ามือ บางตัวมาพร้อมกับหน้าจอ LED โดดเด่น บางตัวมีไฟ RGB สวยงาม จากที่เมื่อก่อนแมคคานิคอลคีย์บอร์ดจะนิยมในหมู่เกมเมอร์ เป็นคีย์บอร์ดเกมมิ่งสำหรับเล่นเกมโดยเฉพาะ ตอนนี้ไม่ว่าจะเป็นคนทำงาน นักเรียน ก็เข้าถึงแมคคานิคอลคีย์บอร์ดได้ง่ายขึ้น มีให้เลือกหลายดีไซน์ ไม่จำกัดแต่การเล่นเกม รวมไปถึงบางคนลงลึกกว่านั้น เริ่มต้นด้วยคัสตอมคีย์บอร์ดกันไปเลย เลือกเองตั้งแต่ต้นจนจบ ออกมาเป็นคีย์บอร์ดที่เข้ามือ ตั้งวางเฉยๆ ก็สบายใจ
หลายคนที่เพิ่งเข้าวงการแมคคานิคอลคีย์บอร์ดหรือคัสตอมคีย์บอร์ด คงเคยได้ยิน หรืออ่านเจอคำว่า Lube Switch กันมาบ้าง ลูปสวิตซ์คืออะไร ทำไมผู้เล่นแมคคานิคอลคีย์บอร์ดถึงพูดถึงกันเยอะ แถมยังบอกว่าระวังปวดหลังกันอีก วันนี้ Mercular ขอเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับการลูปสวิตซ์ หรือ Lube Switch กันอีกสักหน่อยน เพื่อให้มือใหม่เข้าใจมากขึ้น ทั้งวิธีการลูป ลูปแล้วได้อะไร อุปกรณ์เสริมคัสตอมคีย์บอร์ดสำหรับลูปมีอะไรบ้าง แล้วทำไมหลายคนบ่นว่าปวดหลัง ถ้าพร้อมก็เตรียมเพลลิสต์เพลงให้พร้อม กอเอี๊ยะแปะหลัง แล้วเริ่มลูปกันได้เลย
Lube Switch คีย์บอร์ดคืออะไร
ก่อนจะเริ่มไปซื้ออุปกรณ์มา Lube Switch เรามาเริ่มทำความเข้าใจก่อน ลูปแล้วจะได้อะไร เสียอะไร แล้วสวิตซ์แบบไหนที่ควรลูป เพราะไม่ใช่ว่าสวิตซ์ทุกตัวจะเหมาะสำหรับการลูป หรือบางที ลูปสวิตซ์แล้วอาจไม่ถูกใจเรา จะเสียเวลาเช็ดออกอีก ไม่คุ้มเลยเครับ
Lube Switch คีย์บอร์ดมีข้อดี ข้อสังเกตอย่างไร
Lube Switch คือการที่เรานำสารหล่อลื่น (Lubricant) มาป้ายบริเวณด้ายในของสวิตซ์ เพื่อให้สวิตซ์ตัวนั้นมีเสียงเบาลง เงียบ และได้สัมผัสที่ลื่นขึ้น สมูธยิ่งขึ้น ซึ่งการลูปสวิตซ์จะเหมาะสำหรับสวิตซ์รูปแบบ Tactile และ Linear เพราะมันจะช่วยให้การกดแต่ละที มีจังหวะที่ลื่นไหลมากยิ่งขึ้น ลดเสียงแปลกปลอมจากด้านในสวิตซ์ ซึ่งหากนำไปลูปกับสวิตซ์ Clicky ก็อาจทำให้เสียงคลิกที่เป็นเอกลักษณ์ของสวิตซ์ประเภทนี้หายไป รวมถึงอาจทำให้จังหวะการพิมพ์ 2 จังหวะหายไปด้วย
ฉะนั้นก่อนจะลูปสวิตซ์ อาจต้องถามตัวเองก่อนว่าเสียงที่ได้ยิน สัมผัสที่กำลังพิมพ์อยู่ตอนนี้ดีพอแล้วหรือยัง หากไม่เคยลองลูปสวิตซ์เลย ควรลองหาสวิตซ์ที่ลูปเรียบร้อยแล้วมาลองกด ลองฟังเสียง เพื่อให้ได้รู้ว่าสัมผัสหลังการลูปเป็นอย่างไร ถ้ามีอุปกรณ์อยู่แล้ว ก็ลองลูปสัก 2 - 3 ตัวก่อน เพื่อให้รู้ว่าสวิตซ์ตัวนี้ เมื่อลูปแล้ว เสียงและสัมผัสจะไปในทิศทางไหน เผื่อไม่ให้พลาดลูปเสร็จแล้วกลายเป็นสวิตซ์ที่ไม่ถูกใจ จะไปล้างเอาสารหล่อลื่นออก ก็เสียทั้งเวลา และบางทีก็อาจทำให้สวิตซ์ตัวนั้นเสียไปด้วยครับ
Lube Switch ต้องใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง
สำหรับมือใหม่ที่ไม่มีอุปกรณ์อะไรเลย อาจต้องซื้อเพิ่มเติมเยอะพอสมควรเลยครับ แต่อุปกรณ์เหล่านี้บางตัวใช้ได้ตลอด ใช้ได้เรื่อยๆ ซื้อมาครั้งเดียวจบ แต่บางตัวก็อาจต้องมีการซื้อเพิ่มอย่างน้ำยาลูป ซึ่งขวดหรือกระปุกเดียวก็ใช้ได้ยาวๆ ไปเลยครับ เรียกว่าถ้าซื้อมาแล้ว อีกนานเลยกว่าต้องซื้อใหม่ ถ้าเป็นคนที่มีสวิตซ์เยอะ ซื้ออุปกรณ์มาลูปเองอาจได้ความสบายใจ ได้ปวดหลัง และได้ความคุ้มค่ากว่าการไปให้ร้านลูปอีกครับ แล้วอุปกรณ์จำเป็นๆ จริงๆ มีอะไรบ้าง เรามาดูไปพร้อมกันเลยครับ
สวิตซ์
แน่นอนครับ จะลูปสวิตซ์ สิ่งที่ต้องมีคือสวิตซ์ที่เราจะต้องการลูปนั่นเอง
ฐานลูปสวิตช์คีย์บอร์ด
หลายคนบอกว่ามีก็ได้ ไม่มีก็ได้ แต่สำหรับทางเรา แนะนำว่ามีจะดีกว่าครับ เพื่อให้ชิ้นส่วนต่างๆ ถูกจัดวางอย่างเป็นระเบียบ โดยฐานนี้จะมีหลุมสำหรับวางชิ้นส่วน ไม่ว่าจะเป็นตัวสวิตซ์, Stem, สปริง และที่วางอุปกรณ์เสริมด้านข้าง จะได้ให้ทุกอย่างอยู่เป็นที่ ลดโอกาสการหายด้วยครับ
ที่เปิดสวิตช์คีย์บอร์ด
อันนี้หลายคนก็ว่าไม่จำเป็น แต่เราก็ยังอยากแนะนำว่าควรมีอย่างยิ่ง เป็นอุปกรณ์สำหรับเปิดสวิตซ์ เพื่อให้เราสามารถนำน้ำยาไปลูปภายในได้ หากเราเปิดด้วยตัวเอง ก็มีโอากาสที่ขาสวิตซ์จะหัก ที่เปิดสวิตซ์คีย์บอร์ดนี้ช่วยได้เยอะเลยครับ
พู่กัน
พู่กันตัวนี้จะไว้สำหรับนำน้ำยาลูปไปป้ายภายในสวิตซ์ ไปป้ายสปริง ป้าย Stem ป้ายมันทุกอย่างที่เราอยากป้าย จะมีพู่กันไม่กี่เบอร์ที่ใช้กัน ได้แก่เบอร์ 0 ถึงเบอร์ 2 ครับ
น้ำยาลูป
น้ำยาลูป เป็นของเหลวที่ใช้สำหรับป้ายเพื่อให้สวิตซ์มีความหนืดมากยิ่งขึ้น มีทั้งจารบีและน้ำมัน ที่นิยมใช้กันจะเป็น Krytox มีความหนืด ความเข้มให้เลือกตามความต้องการ และความชอบครับ
คีมและที่จับ Stem
อุปกรณ์เหล่านี้จะช่วยให้เราสามารลูปได้ง่ายยิ่งขึ้น คีมสำหรับการจับสปริงหรือชิ้นส่วนขนาดเล็กขึ้นมา ให้เราได้ป้ายน้ำยาลูปได้ง่าย เห็นได้ชัด รวมถึงที่จับ stem เองก็ช่วยให้เราป้ายได้ถนัดมือมากยิ่งขึ้นครับ
Lube Switch มีขั้นตอนอะไรบ้าง
เมื่อเรามีอุปกรณ์พร้อมแล้ว ก็มาเริ่มการ Lube Switch กันได้เลย แต่ก่อนจะเริ่ม เตรียมพร้อมเพลย์ลิสต์เพลงเพราะๆ เก้าอี้เพื่อสุขภาพ ปรับหลังให้พอดี นั่งให้สบาย ชงกาแฟร้อนๆ มานั่งดื่ม เพราะเราจะต้องตั้งจิต มองจ้องตากับสวิตซ์ไปไม่ต่ำกว่า 3 ชั่วโมงแน่นอน ถ้าเริ่มแล้ว มาเลย!
ถอดสวิตซ์ออก
นำสวิตซ์ที่เราจะทำการลูป ติดเข้ากับไปตัวถอดสวิตซ์ โดยต้องดูด้วยว่าขาสวิตซ์ของเราเป็นแบบไหน ส่วนมากตัวถอดสวิตซ์จะให้มาทั้ง 2 รูปแบบด้วยกัน หรือหากใครไม่มีที่ถอด จำเป็นต้องนำคีมหรืออุปกรณ์ปลายแหลมงัดมันออก แต่ต้องระวังสักเล็กน้อย หากงัดแรง อาจทำให้ขาประกบของสวิตซ์หักเอาได้ครับ
เมื่อถอดออกมา เราจะได้ชิ้นส่วนออกมา 4 ชิ้นด้วยกัน ได้แก่
กรอบด้านบน (Top housing) : จะเป็นส่วนที่เราจะไม่ได้ทำอะไรกับมันเลย เราจะไม่ลูปชิ้นส่วนนี้ เพราะมันไม่ได้กระทบกับอะไร
Stem : เป็นส่วนที่เราทำการลูป
สปริง : เป็นอีกส่วนที่เราต้องลูป แต่เราสามารถลูปมันได้ง่ายกว่า Stem
กรอบด้านล่าง (Bottom housing) : เป็นอีกส่วนที่ต้องลูปครับ ต้องระวังไม่ให้โดนทองแดง
เมื่อเราถอดสวิตซ์แล้วได้ชิ้นส่วนต่างๆ ออกมาแล้ว ให้ทำการวาวไว้บนฐานลูปสวิตซ์ จะได้ไม่หาย และยังช่วยให้เราลูปได้เป็นขั้นตอนอีกด้วยครับ
ป้ายน้ำยาลูป
ส่วนนี้อาจต้องใจเย็นและมีสมาธิกันสักเล็กน้อยครับ โดยเราจะป้ายทั้งหมด 3 ที่ด้วยกัน ได้แก่ Stem, สปริง และ Bottom housing ครับ
การลูป Stem : ที่ต้องทำคือการนำที่จับ Stem ออกมาเพื่อให้เราสามารถลูปมันได้ง่ายขึ้น ทางด้านพู่กัน จุ่มน้ำยาเล็กน้อย อย่าจุ่มเยอะไปนะครับ เพราะอาจทำให้เกิด Over Lube และมันอาจจับตัวเป็นก้อนได้ เอาทีละน้อยๆ ค่อยๆ ป้าย โดยเราจะป้าย 3 ด้านด้วยกัน ด้านข้าง 2 ด้าน และฝั่งที่ไม่ใช่ขาสวิตซ์ครับ ที่ไม่แนะนำให้ป้ายขาสวิตซ์ เพราะอาจทำให้สัมผัสการกดเปลี่ยน ลื่นเกินไป แต่หากจะลูปสวิตซ์ Linear ให้ลื่น ก็สามารถป้ายให้ครบทุกด้านไปเลย
การลูปสปริง : การลูปสปริงทำได้ 2 วิธีเลยครับ วิธีแรกจะเป็นการจับสปริงขึ้นมา ใช้น้ำยาป้ายด้านบน และด้านล่างของสปริง โดยวิธีนี้จะใช้น้ำยาลูปแบบจารบีเป็นส่วนมาก เพราะจารบีนี่สามารถลูปได้ครอบทุกชิ้นส่วน แต่หลายคนเลือกวิธีลูปสปริงแบบที่ 2 กันมากกว่า คือนำสปริงทั้งหมดใส่เข้าไปในถุงที่ปิดได้ จากนนั้นนำยาลูปแบบน้ำมัน หยดลงไป และเขย่าๆ หมุนๆ ให้น้ำยาเคลือบสปริงทั่วๆ แค่นี้ก็เสร็จแล้วครับ สปริงนี่ลูปง่ายมาก
การลูป Bottom Housing : นำน้ำยาลูปแบบจารบีจุ่มลงไปตรงกลาง ที่เป็นที่อยู่ของสปริง พยายามเกลี่ยให้ไม่หนาจนเกินไป กระจายกันอย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรป้ายโดนทองแดงมากเกินไปครับ
ประกอบร่าง
เมื่อทุกส่วนผ่านการลูปเสร็จสิ้น ก็นำทุกส่วนที่เราถอดออกมาประกอบกัน ควรปล่อยให้น้ำยาลูปแห้งเสียก่อย และระวังในการใส่ ควรดูช่องให้ดี อย่าประกอบผิดด้าน เพราะอาจทำให้ขา Stem หรือขาสวิตซ์หักได้ครับ เมื่อทำเสร็จแล้ว ควรลองกดเล่นก่อน จะได้รู้ว่าปริมาณน้ำยาที่เราลูป เพียงพอแล้วหรือยัง ต้องใส่เพิ่มหรือต้องลดลงหรือไม่ สวิตซ์แต่ละตัวจะได้มีสัมผัสการกดที่เหมือนกัน
Lube Switch เพื่อเสียงที่ลื่นหู สัมผัสที่นุ่มนวล
เป็นอย่างไรกันบ้างครับสำหรับการลูปสวิตซ์ แม้จะดูเป็นกระบวนการที่ไม่นาน แต่แค่คิดว่าต้องทำแบบเดิมซ้ำๆ อย่างต่ำก็ 60 ตัว ก็รู้สึกปวดหลังขึ้นมาทันที ฉะนั้นอย่าลืมเตรียมความพร้อม ทั้งของกิน เพลงเพราะๆ หลังแน่นๆ เพื่อให้การลูปสวิตซ์ราบลื่นยิ่งขึ้น จากที่ฟังนักเล่นคัสตอมคีย์บอร์ดที่ผ่านการลูปสวิตซ์มาไม่ต่ำกว่าพันตัว แต่ละคนมักพูดว่า "ค่อยๆ นะน้อง" ใช่ครับ ค่อยๆ ลูปไปเรื่อยๆ เหนื่อยก็พัก แล้วค่อยกลับมาลูปใหม่ ไม่ต้องรีบร้อน ไม่งั้นจะเบื่อเสียก่อน แถมปวดหลัง อันนี้ไม่คุ้มแน่นอนครับ
ใครที่เป็นผู้เล่นแมคคานิคอลคีย์บอร์ดมือใหม่ กำลังมองหาคัสตอมคีย์บอร์ดหรืออุปกรณ์เสริมคัสตอมคีย์บอร์ดอยู่ ที่ Mercular เรามีสินค้าให้เลือกมากมาย ทั้งแมคคานิคอลคีย์บอร์ดสำหรับเล่นเกม คีย์บอร์ดสำหรับทำงาน มีให้เลือกหลายขนาด และอุปกรณ์เสริมคัสตอมคีย์บอร์ด มาพร้อมสำหรับการลูปสวิตซ์ และอุปกรณ์อื่นๆ ที่จะทำให้เสียงคีย์บอร์ดของเราเสียงไพเราะมากขึ้น คัดสรรมาแต่ของดี แบรนด์ดัง การรับประกันหลังการขายหายห่วงครับ